การทางพิเศษฯ เตรียมชง ครม. เคาะสร้างทางด่วนใต้ดินแยกเกษตร
การทางพิเศษฯ เคาะสร้างทางด่วนผ่าแยกเกษตร เตรียมเสนอ ครม.อัดงบ 3 หมื่นล้าน เจาะอุโมงค์เชื่อมด่วนศรีรัช ผ่านแยกเกษตรสู่ประเสริฐมนูกิจ คาดประมูลสร้างปี 2569 ส่วนช่วงเกษตร – นวมินทร์ เชื่อมวงแหวนรอบนอก พร้อมเสนอ ครม.ไฟเขียว
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง) โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 โดยระบุว่า ขณะนี้ กทพ.ได้ศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ ซึ่งพบว่าแนวสายทางที่ 2.2 เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด รวมระยะทาง 6.7 กิโลเมตร มีคะแนนรวม 82.5 คะแนน เบื้องต้นประเมินค่าลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับแนวเส้นทางสายดังกล่าว กทพ.ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor
“ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โครงการนี้เดินหน้ามา 25 ปีแล้ว ซึ่งแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง คือตอน N1 ที่กำลังรับฟังความคิดเห็นนี้ และช่วง N2 ที่การทางฯ ศึกษาแล้วเสร็จ มีความพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเริ่มขั้นตอนก่อสร้าง ซึ่งความคืบหน้าการดำเนินงานนี้ จึงเป็นโอกาสที่การทางฯ จะได้พัฒนาโครงการเพื่อประชาชน หลังจากที่ล่าช้าในกระบวนการเจรจากันมานาน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด”
ขณะเดียวกัน รูปแบบการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ถือเป็นรูปแบบที่เหมาะสม เป็นรูปแบบที่สามารถลดผลกระทบความกังวลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนับเป็นอุโมงค์ทางด่วนสายแรกของประเทศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยภายในอุโมงค์ใต้ดินจะเป็นทาง 2 ชั้น เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ซ้อนกันอยู่ ประเมินระดับความลึกที่สุดอยู่ที่ประมาณ 44 เมตรจากผิวดิน และมีจุดระบายอากาศ และจุดอพยพ 4 จุด
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนำเสนอแนวเส้นทางที่เหมาะสม และรับฟังความเห็นจากที่ประชุมครั้งนี้ กทพ.จะเดินหน้าศึกษารายละเอียดของโครงการก่อสร้าง รวมไปถึงประเมินค่าเวนคืน อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ขณะที่รูปแบบการลงทุนเบื้องต้น กทพ.จะลงทุนเอง โดยใช้รายได้มาดำเนินการ แต่หากไม่พออาจจะมีการระดมทุนเพิ่มเติม เช่น การออกบอนด์ เป็นต้น
ทั้งนี้ กทพ.ประเมินว่าหลังผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จในปี 2567 จะสามารถเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2569 และเร่งรัดให้เริ่มต้นงานก่อสร้างทันทีภายในต้นปี 2570 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2575 โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรปีเปิดบริการอยู่ที่ 7 หมื่นคันต่อวัน ขณะที่สายทางมีความจุประมาณ 1.4 แสนคันต่อวัน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าของโครงการตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเริ่มเปิดประมูลในปี 2567 และดำเนินการก่อสร้างทันที ระยะเวลาก่อสร้างราว 3-4 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2570 - 2571