'กฟผ.' คาดประกาศโครงสร้างค่าไฟสะอาดปลายปีนี้ ดูดนักลงทุนต่างชาติ
"กฟผ." คาดประกาศโครงสร้างค่าไฟสะอาดในปลายปีนี้ หวังเป็นทางเลือกเสิร์ฟนักลงทุนรายใหญ่ต่างประเทศ เร่งรัฐบาลขับเคลื่อน
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานสัมมนา ROAD TO NET ZERO : โอกาสความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" Session : ยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Climate Change ว่า กฟผ. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อใช้ขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ ซึ่งวันนี้มาตรการทางภาษีของประเทศต่าง ๆ ได้ออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเป็นเชิงบังคับใช้ ซึ่งผู้ประกอบการทั่วโลกพยายามตอบสนองต่อการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้เฉพาะเรื่องของคาร์บอนฯ
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ดูแลเรื่องพลังงานไฟฟ้า จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ 3-4 บริษัทต่างประเทศ มองเป็นสโคปคือ 1 สโคปของการใช้พลังงานของตัวเอง สโคปที่ 2 คือ การรับพลังงานเข้ามาอาจจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น และสโคปที่ 3 คือ ซัพพลายเชน ที่เจอในวันนั้นซึ่งต่างมองในเรื่องของการจะเข้ามาจะจัดการอย่างไร
ดังนั้น กลุ่มบริษัทเหล่านี้มีการรวมตัวกันในระดับโลกตั้งเป็นสมาคม RE100 กำหนดมาตรการประมาณ 7 มาตรการ อาทิ สร้างเอง จัดหาโดยตรง ทำสัญญากับซัพพลายเออร์ไฟฟ้า จัดหาใบรับรอง EACs ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธีรับพลังงานเข้ามาและไปซื้อขายคาร์บอน เครดิต หรือไปซื้อใบรับรอง (EACs) อื่น ๆ ซึ่งหลายประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย ทั้ง Apple และ Toyota ต่างระบุว่ายังไม่เพียงพอ เพราะมีการลงทุนในระดับแสนล้านบาท จึงนำไปสู่กลไกของรัฐว่าจะทำให้เกิดในระดับที่สูงขึ้นไปอย่างไร
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับภาครัฐ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และอีก 2 การไฟฟ้า เปิดรับฟังความต้องการของผู้ลงทุนระดับโลก เพื่อสร้างโครงสร้างอัตราค่าไฟใหม่เพื่อเป็นทางเลือก ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้ประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ชื่อ Utility Green Tariff (UGT) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ Unspecified Sources เหมือนซื้อ Premium มากับไฟ และ specified Sources คือ เจาะจงว่ารับไฟมาจากแหล่งผลิตไหน ซึ่งจะผูกพันกับแหล่งผลิตนั้นระดับ 10 ปี
"กฟผ. ได้ดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งกลไกในการได้สิทธิ์สีเขียวมากับพลังงานไฟฟ้า ต้องมีแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน กฟผ. นอกจากจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นแล้ว จะต้องทำระบบไฟฟ้าให้รองรับ Grid Modernization เพราะพลังงานหมุนเวียนที่ผันผวนไม่ว่าจะเป็นลม แดด biomass หรือ biogas เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม ระบบไฟฟ้าในไทยควรต้องมองเห็นก่อน และใน Step ถัดไปต้องการความยืดหยุ่น คืออาจจะต้องมีระบบกักเก็บพลังงานซึ่งมีหลากหลาย อาจเป็นแบตเตอรี่ แต่ราคายังแพง และอีกตัวที่ประเทศไทยใช้มาหลายปีแล้ว คือ การสูบน้ำขึ้นไปบนภูเขาและปล่อยลงมา ถือเป็นการย้ายพลังงานก้อนใหญ่ข้ามเวลา กฟผ.จะใช้ทำทั้ง 2 ตัวนี้เข้ามาบริหารจัดการซึ่งในแผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่จะพูดถึงระบบกักเก็บพลังงานในปริมาณที่ไม่น้อย
"ทั้งหมดนี้คือการมองในระยะสั้นคือพลังงานหมุนเวียนมาพร้อมกับระบบกักเก็บพลังงาน แต่เราคิดว่ายังมีปัญหาในเรื่องของทรัพยากรที่จะนำมาผลิตสิ่งเหล่านี้ และแร่หายากซึ่งสิ่งที่เรามองต่อในเฟสกลาง อาจจะเป็นในเรื่องของไฮโดรเจน ควบคู่กับการทำ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) สิ่งนี้จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้น และในอนาคตประเทศไทยวางแผนว่าจะผสมไฮโดรเจนเข้าไปในท่อก๊าซธรรมชาติช่วยลดคาร์บอน นอกจากนี้ อีกส่วนที่มองในระยะยาว คือ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ถือเป็นสิ่งที่กฟผ. มองรวมถึงระยะยาวซึ่งไม่รู้จะเป็นจริงหรือไม่"
นายวฤต กล่าวว่า นอกเหนือจากนี้สิ่งที่กฟผ.ทำเพิ่มเติมคือSupport โครงสร้างพื้นฐานประเทศผ่านโครงการ อาทิ สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้การเดินทางทั่วไทย ซึ่งไม่ได้ตั้้งเป้าจะต้องทำจนเป็นเบอร์ 1 แต่ทำเพื่อให้คนมั่นใจและเปลี่ยนจากรถน้ำมันมาใช้รถไฟฟ้า ซึ่งกฟผ. ได้เปลี่ยนรถมินิบัสที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ รับส่งพนักงานเกือบ 30 คัน รวมถึงรถผู้บริหารด้วย
นอกจากนี้ กฟผ.สร้างตัวอย่างเชิง CSR แจกมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กับวินมอเตอไซค์ ให้คนบางกรวยได้ลองใช้, การทำ Smart Energy Solution โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างสังคมของพลังงานที่ตอบรับในเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งแม้ว่าจพดำเนินทั้งหมดนี้แล้ว คาร์บอนก็จะไม่เป็นศูนย์ จึงต้องนำคาร์บอนดูดกลับลงไปใต้พื้นดิน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีก 15 ปี ถึงจะสำเร็จในเชิง Commercial ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ก่อนคือปลูกป่าให้ได้ 1 ล้านไร่เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอน