กฎหมายสถานบันเทิง 24 ชม. แม่เหล็กลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภา
เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) หรือ Airport City พื้นที่ 6,500 ไร่ เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ EEC เพื่อยกระดับให้ ‘อู่ตะเภา’ เป็นสนามบินพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว โลจิสติกส์และศูนย์ซ่อมอากาศยาน รวมทั้งเป็นประตูเชื่อมไทยสู่ภูมิภาค
สำนักงานคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้วางยุทธศาตร์ให้เมืองการบินเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่ากับเมืองท่าสำคัญอย่างสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง โดยจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี
อีกทั้งจะสนับสนุนด้านการออกวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้ดึงดูดการลงทุนได้คล่องตัวและมุ่งหวังผลได้มากขึ้น
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัดระยอง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เป็นการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภาจ.ระยอง
สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะเป็นการกำหนดพื้นที่ (Zoning) ที่อนุญาตให้สถานบริการเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง รวมพื้นที่ประมาณ 2,662 ไร่ ภายในเมืองการบินเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบหรือเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องอื่นใน 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยพื้นที่อื่นภายนอกเขตส่งเสริมเมืองการบินยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การเปิด-ปิดสถานบริการตามปกติ
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับนี้จะรองรับให้มีการเปิดสถานบริการ 24 ชั่วโมงในพื้นที่เมืองการบิน จะช่วยให้ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) ผู้รับสัมปทานบริหารสนามบินอู่ตะเภา ใช้เป็นจุดแข็งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่บริษัทจะชวนเข้ามาเปิดบริการในพื้นที่
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) งานประชุมและแสดงสินค้า รวมถึงบริการความบันเทิงอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้อู่ตะเภาก้าวสู่การเป็นสนามบินระดับโลกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน
“ขณะนี้ UTA กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบพื้นที่เมืองการบิน โดยบริษัทมีแผนที่จะดึงธุรกิจเอกรายใหญ่ที่มีประสบการณ์การให้บริการในสนามบินทั่วโลกเข้ามาลงทุน โดยอาจมีการเปิดประมูลในลักษณะนานาชาติ (International bidding) เพื่อหานักลงทุนที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน”
นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกรมศุลกากร และได้รับการสนับสนุนมาตรการสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน มีรูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น ดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี
2.กลุ่มคนทำงานรูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้
3.กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในเมืองการบินภาคตะวันออกผ่านความเห็นชอบจากครม.ตั้งแต่ปี 2565 โดยมี 4 เงื่อนไขกำกับดูแล ดังนี้
1.มาตรการรักษาความปลอดภัย มีการควบคุมความสงบเรียบร้อยและกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการรักษาความปลอดภัยโดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมตามหลักสากลโดยประสานความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือและกระทรวงมหาดไทย เพื่อมิให้ฝ่าฝืนกฎหมาย ป้องกันการสร้างความเดือดร้อนต่อชุมนุมจนกระทบความสงบเรียบร้อย
2.เป็นพื้นที่ที่มีรั้วรอบครอบคลุมทุกบริเวณ และกำกับดูแลการเข้า-ออกของบุคคลและสิ่งของตามช่องทางที่กำหนด ด้วยระบบการกำกับดูแลที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง
3.มาตรการด้านเทคโนโลยี โดยใช้ระบบวงจรปิดอัจฉริยะร่วมกับระบบการตรวจสอบใบหน้า การบันทึกภาพ ระบบการยืนยันตัวตน KYC (Know Your Customer) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นที่เป็นมาตรฐานสากลและใช้ในสนามบินระดับโลก
4.มาตรการด้านการกำกับดูแล ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองและกำกับดูแลการจัดตั้งสถานบริการและขออนุญาตจัดตั้งสถานบริการแต่ละแห่ง
สำหรับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ได้แก่
1.ส่งเสริมการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ยกเว้นภาษีอากร และภาษีสรรพสามิต เฉพาะสินค้าที่อุปโภคและบริโภคใน Airport City โดยยกระดับพื้นที่เมืองการบินสู่การเป็น “เขตประกอบการค้าเสรี” (Free Trade Zone)
2.ส่งเสริมการซื้อสินค้าใน Duty Free สำหรับผู้เดินทางใน EECa Duty Free เพื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาทต่อคนต่อปี โดยกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เฉพาะช่วง 10 ปีแรก เพื่อกระตุ้นการเดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภาช่วงเริ่มต้น
3.ส่งเสริมการซื้อสินค้าใน Duty Freeสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เดินทาง เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวและช้อปปิ้งแห่งใหม่