เอกชนหนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทผ่านแอปเป๋าตัง

เอกชนหนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทผ่านแอปเป๋าตัง

"เอกชน" เผยนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล สอดคล้องข้อเสนอเร่งด่วนภาคแอกชน แนะพักหนี้เกษตกรต้องมีมาตรการเสริมเติมทุนหมุนเวียน เตรียมแผนรับมือเอลนีโญ แนะจ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เฉพาะผู้เดือดร้อน หนุนเชื่อมกับแอพเป๋าตัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.2566 โดยนโยบายดังกล่าวได้พิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กระทบประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ต้องเตรียมรับมือ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เอลนีโญ

รวมทั้งร่างนโยบายได้ระบุถึงปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของจีดีพี รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 61% ของจีดีพี จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจในอนาคต 

รัฐบาลนายเศรษฐา ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน คือ

1.การแก้ปัญหาหนี้ของภาคเกษตรภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยต้องไม่ขัดวินัยการเงินและไม่เกิดภัยทางจริยธรรม 

2.ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งค่าไฟฟ้าค่าน้ำมันและลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานและจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่ม

3.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซาและจัดทำ Fast Track VISA

4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลสอดคล้องกับข้อเสนอของหอการค้าไทยที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้ 3 ด้าน คือ 

1.การลดราคาพลังงานทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ให้อยู่ระดับเหมาะสมกับค่าครองชีพประชาชนและลดต้นทุนภาคเอกชนให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

เอกชนหนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทผ่านแอปเป๋าตัง

 

2.การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปี 2566 เช่น การลดขั้นตอนการกรอก e-VISA หรือ Free VISA พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวจีน และเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวในช่วง High Sesson

3.การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อ และเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเดินหน้าโครงการและแผนที่ทำได้ทันที โดยไม่มองข้อจำกัดของงบประมาณ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงาน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจของนักลงทุนต่างชาติได้มาก

สำหรับนโยบายการพักหนี้เกษตรกรหากใช้ในปี 2566 จะช่วยเกษตรกรตัวเบาขึ้นจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นมากในช่วงโควิด-19 และหากเติมเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเพาะปลูก การส่งเสริมพันธุ์หรือต้นกล้าที่มีคุณภาพ ควบคู่กับมาตรการลดต้นทุน โดยเฉพาะค่าปุ๋ย 

รวมถึงเร่งเตรียมแผนรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยขอให้รัฐบาลเร่งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บกักน้ำและมีแผนใช้น้ำรัดกุม เพื่อลดผลกระทบต่อภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ 

ส่วนนี้อาจใช้แรงงานในพื้นที่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ทันที โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอดีตเคยเตรียมแผนการจัดการน้ำนี้ไว้แล้ว โดยนำแผนเดิมมาปรับปรุงและดำเนินการให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนได้ทันที

ขณะที่นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ถือเป็นมาตรการไฮไลท์สำคัญที่ประชาชนสนใจมาก ซึ่งจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการอัดฉีดเงินสู่ประชาชนนั้น หวังว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส ปี 2567 เพื่อเป็นแรงหนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยประเมินว่าจะหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ ราว 1.2-1.5 ล้านล้านบาท ทำให้จีดีพีของปี 2567 ขยายตัว 5% ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกที่ขยายตัวได้ 3-5% 

อย่างไรก็ตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

1.งบประมาณที่จะนำมาใช้มีแหล่งที่มาจากส่วนใด แต่ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงได้มีการจัดสรรไว้แล้ว 

2.อาจไม่จำเป็นต้องแจกเงินทุกคนที่เข้าเงื่อนไข แต่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือจริงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะงบประมาณมีจำกัด และหากช่วยเหลือตรงจุดจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบได้หลายรอบ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยตรง

3.สำหรับช่องทางการแจกเงินหากนำมาเชื่อมกับระบบเป๋าตังของกรุงไทย ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานอยู่แล้วและเคยประสบสำเร็จจากมาตรการคนละครึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเงินดิจิตอล 10,000 บาท ได้เร็วขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยภาคเอกชนรอติดตามการแถลงนโยบายของภาครัฐว่าจะนำไปสู่การขับเคลื่อนได้เร็วแค่ไหน และให้น้ำหนักกับการเติบโตของเศรษฐกิจเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ 

ทั้งนี้ภาคเอกชนหวังว่าจะเห็นการร่วมมือกันของทีมเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเอกชนพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรับมือกับตัวแปรสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากสงครามที่อาจทวีความรุนแรง

นอกจากนี้ภาคเอกชนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 ดังนั้น เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยต้องการให้เดินหน้าทำงานทันที โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อให้จีดีพีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 3%

สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลถือเป็นนโยบายสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองเนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยรัฐบาลต้องการเร่งผลักดันเพื่อเป็นตัวดันเศรษฐกิจระยะสั้น รวมทั้งเติมเงินให้ประชาชนเพื่อลดค่าครองชีพ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจขยับตัวดีขึ้นจึงเห็นว่ารัฐบาลค่อยมาพิจารณานโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาท