เปิดโผ 10 ‘รัฐวิสาหกิจ’ ลงทุนในตลาดหุ้นไทย มูลค่า 9.61 แสนล้าน
สำรวจ 10 รัฐวิสาหกิจ ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมูลค่ารวมกันกว่า 960,955.54 ล้านบาท หลังมีกระแสข่าวรัฐบาลอาจกู้ รัฐวิสาหกิจ มาทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท "โบรก" เผยอาจต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อขยับกรอบวินัยการคลังเพิ่ม 45 - 50% จากกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32%
จากกรณีข่าวฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจะยืมเงิน รัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาท มาทำเงินดิจิทัลแจก ประชาชนนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ คงต้องพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ เนื่องจากตามกรอบกฎหมายสามารถให้ยืมได้แค่ 32% ของงบประมาณ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้เกือบเต็มแล้ว ต้องขยายเพดานเป็น 45% ของงบประมาณ
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ยังไม่ควรด่วนสรุปว่าประเด็นดังกล่าวจะไปกู้รัฐวิสาหกิจจริงหรือไม่ เนื่องจากแหล่งที่มาของเงินมาจากหลายส่วน ซึ่งมองว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการหาเงิน ไม่ต้องไปกู้ยืมรัฐวิสาหกิจหรือว่าเป็นการขายวายุภักษ์ เพราะว่า เป็นการถือแทนกระทรวงการคลัง
“เชื่อว่า เงินมีพอ และให้นำหนักของการออกพันธบัตรมากกว่า ที่เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้ และปริมาณเงินในระบบของเราสภาพคล่องค่อนข้างสูง”
อย่างไรก็ตาม มองว่า รัฐวิสาหกิจเองก็ไม่น่าที่จะมีให้กู้ยืม ก่อนหน้านี้รัฐวิสาหกิจบางแห่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเข้าไปช่วงรัฐบาลค่อนข้างมาก อย่าง AOT PTT ได้เข้ามาช่วยประเทศชาติมาก ถ้าจะให้เข้ามาช่วยอีกน่าจะไม่มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอ
ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อดีของการจะเข้าไปกู้รัฐวิสาหกิจคือ สามารถคืนช้าได้ แต่จะทำให้รัฐวิสาหกิจขาดกระแสสภาพคล่อง แทนที่จะนำเงินไปเติบโต ซึ่งถือเป็นการกระทบรายได้ของรัฐอีกทีหนึ่ง หรืออัตราดอกเบี้ยแทนที่จะนำไปปล่อยกู้อย่างอื่นอาจจะทำให้ได้น้อยจากการปล่อยกู้ให้รัฐ
โดย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีการกำหนดกรอบไว้ว่า การที่จะสามารถเป็นหนี้ได้ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หากจะต้องกู้กับรัฐวิสาหกิจ 500,000 ล้านบาท ต้องมีการขยายกรอบ แม้ว่า ปัจจุบันใน 32% อาจจะยังไม่เต็ม แต่กำลังจะเต็ม ฉะนั้นอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและขยับกรอบขึ้นมากกว่า 10% เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และถ้าจะต้องใช้ 500,000 ล้านบาท จึงต้องมีการขยายกรอบออกไปที่ 45 - 50% และก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการกู้ออกพันธบัตรรัฐบาล หากมีการขยายกรอบดังกล่าวจริง อาจจะต้องไปเพิ่มหนี้อีกในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันมีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะขยับขึ้นไปกว่า 70% จึงมีความเป็นห่วงเช่นกัน
“จริง ๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ถึง 500,000 ล้านบาทก็ได้ เพราะว่า ทางรัฐบาลต้องการที่จะทำเป็นดิจิตอลวอเลตก่อน อาจจะต้องเซตเป็นกรอบงบประมาณ ถึงเวลาอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินถึง 500,000 ล้านบาท”
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจ “รัฐวิสาหกิจ” ที่เข้ามาลงทุนหารายได้ในตลาดหุ้นไทยมีด้วยกัน 10 รัฐวิสาหกิจ มีมูลค่ารวมกันกว่า 960,955.54 ล้านบาท
1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุน 7 หุ้น รวมมูลค่า 819,050.76 ล้านบาท
- หุ้น GPSC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,332,955,135 หุ้น หรือ 47.27% มูลค่า 68,313.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 51.25 บาท)
- หุ้น IRPC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 9,206,674,600 หุ้น หรือ 45.05% มูลค่า 20,991.21 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.28 บาท)
- หุ้น OR ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 9,000,000,000 หุ้น หรือ 75.00% มูลค่า 180,000.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 20.00 บาท)
- หุ้น PTTEP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 2,532,340,489 หุ้น หรือ 63.79% มูลค่า 424,167.03 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 167.50 บาท)
- หุ้น PTTGC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 2,037,220,915 หุ้น หรือ 45.18% มูลค่า 73,339.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 36.00 บาท)
- หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 80,000,000 หุ้น หรือ 13.46% มูลค่า 3,200.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)
- หุ้น TOP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,005,920,239 หุ้น หรือ 45.03% มูลค่า 49,038.61 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 48.75 บาท)
2.ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุน 5 หุ้น รวมมูลค่า 69,870.90 ล้านบาท
- หุ้น BEM ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 815,356,075 หุ้น หรือ 5.33% มูลค่า 7,012.06 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 8.60 บาท)
- หุ้น KTC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 1,270,908,500 หุ้น หรือ 49.29% มูลค่า 60,368.15 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 47.50 บาท)
- หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 59,429,000 หุ้น หรือ 10.00% มูลค่า 2,377.16 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)
- หุ้น TWP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 8,234,570 หุ้น หรือ 3.05% มูลค่า 21.57 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.62 บาท)
- หุ้น WP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 24,325,570 หุ้น หรือ 4.69% มูลค่า 91.95 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 3.78 บาท)
3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 50,868.73 ล้านบาท
- หุ้น EGCO ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 133,773,662 หุ้น หรือ 25.41% มีมูลค่า 17,591.23 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 131.50 บาท)
- หุ้น RATCH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 978,750,000 หุ้น หรือ 45.00% มูลค่า 33,277.50 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 34.00 บาท)
4.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้ามาลงทุนในหุ้น BEM ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 1,256,259,584 หุ้น หรือ 8.22% มีมูลค่า 10,803.83 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 8.60 บาท)
5.ธนาคารออมสิน ลงทุน 4 หุ้น รวมมูลค่า 5,114.03 ล้านบาท
- หุ้น KTB ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 8 จำนวน 111,299,422 หุ้น หรือ 0.80% มูลค่า 2,148.07 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 19.30 บาท)
- หุ้น MCOT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 78,865,978 หุ้น หรือ 11.48% มูลค่า 260.25 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 3.30 บาท)
- หุ้น THAI ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 46,409,885 หุ้น หรือ 2.13% (ติดเครื่องหมาย SP NC NP)
- หุ้น TIPH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 67,642,500 หุ้น หรือ 11.38% มูลค่า 2,705.70 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 40.00 บาท)
6.การประปาส่วนภูมิภาค เข้ามาลงทุนในหุ้น EASTW ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 668,800,000 หุ้น หรือ 40.20% มีมูลค่า 3,129.98 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 4.68 บาท)
7.ธนาคาร อิสลามแห่งประเทศไทย เข้ามาลงทุนในหุ้น AMANAH ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 500,080,000 หุ้น หรือ 48.27% มีมูลค่า 1,300.20 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.60 บาท)
8.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 390.00 ล้านบาท
- หุ้น BAFS ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 13,000,000 หุ้น หรือ 2.04% มูลค่า 390.00 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 30.00 บาท)
- หุ้น NOK ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 495,390,721 หุ้น หรือ 13.28% (ติดเครื่องหมาย SP NC NP)
9.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงทุน 2 หุ้น รวมมูลค่า 365.28 ล้านบาท
- หุ้น EASTW ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 จำนวน 76,000,000 หุ้น หรือ 4.57% มูลค่า 355.68 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 4.68 บาท)
- หุ้น GENCO ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 15,000,000 หุ้น หรือ 1.34% มูลค่า 9.60 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 0.64 บาท)
10.การเคหะแห่งชาติ เข้ามาลงทุนในหุ้น NNCL ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 30,000,000 หุ้น หรือ 1.46% มีมูลค่า 61.80 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 8 ก.ย.66 ที่ 2.06 บาท)