การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (ตอน 2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพลิกฟื้นการศึกษาของเด็กไทย และมีมาตรการ upskill และ reskill วัยทำงาน
เพราะประชากรไทยกลุ่มนี้จะมีจำนวนลดลง หากต้องการให้จีดีพีขยายตัวที่ 4-5% ต่อปีเหมือนแต่ก่อน ก็จะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และการเพิ่มผลิตภาพนั้นน่าจะเป็นหัวจักรหลัก ที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือความท้าทายในการต้องดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจำนวนที่จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวใน 17 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้น อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่จะเพิ่มขึ้น ย่อมจะทำให้สุขภาพ เป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้นๆ สำหรับเศรษฐกิจ สังคมและความกินดีอยู่ดีของคนไทยทุกคน
ตาราง การคาดการณ์ประชากรไทย
ระบบสาธารณสุขนั้น เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในเชิงของการเมืองและเศรษฐกิจ ในด้านการเมืองนั้น การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้กลายเป็นสิทธิไปแล้ว
เรื่องของสุขภาพนั้น นักเศรษฐศาสตร์จะวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยสำคัญคือความไม่แน่นอน (uncertainty) กล่าวคือเราจะไม่รู้ว่าตอนที่แก่ตัว เราจะเป็นโรคร้ายประเภทไหน และเนื่องจากมนุษย์มักจะกลัวความเสี่ยง (risk averse) ดังนั้น จึงควรแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ กล่าวคือ
เมื่อมีประชากรจำนวนมากก็จะสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และให้คนที่ “โชคดี” ไม่เป็นโรคอะไร ก็จะเสียเงินเบี้ยประกัน ไปให้กับคนที่ “โชคร้าย” เกิดเป็นโรคร้ายแรงขึ้นเมื่อแก่ตัวลง
แต่แนวทางดังกล่าวก็มีปัญหาตามมาคือ เมื่อคนประกันสุขภาพแล้ว ก็มีแนวโน้มจะใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่อ ทำให้ต้นทุนของการประกันสุขภาพโดยรวมเพิ่มขึ้น (เรียกว่า moral hazard) จึงมักจะมีการบังคับให้ต้องจ่าย ค่ารักษาส่วนแรก (co-payment)
นอกจากนั้น ก็อาจมีกรณีที่คนทำประกันปกปิดข้อมูล (เชิงลบ) ของสุขภาพตัวเอง เพื่อจ่ายเบี้ยประกันต่ำ และหากทำเช่นนั้นอย่างแพร่หลาย เบี้ยประกันต้องปรับสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้คนที่รู้ตัวว่าสุขภาพยังดีไม่ยอมซื้อประกัน ก็จะเหลือแต่คนซื้อประกันที่สุขภาพย่ำแย่ และนำมาซึ่งการล้มละลายของระบบประกันสุขภาพ
ดังนั้น ที่สหรัฐอเมริกา ระบบประกันสุขภาพของประเทศที่เรียกว่า Obama Care จึงกำหนดค่าปรับกับคนสุขภาพดี ที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลกลาง
สำหรับประเทศไทยนั้น มีปัญหาที่แตกต่างกัน คือมีระบบดูแลสุขภาพอยู่ 4 แบบ คือการประกันสุขภาพโดยบริษัทประกันสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลไทย ระบบประกันสุขภาพของกองทุนประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพสำหรับข้าราชการ
แต่สำหรับประเทศไทยนั้น มักจะไม่มีระบบ co-payment จึงมีการนำเสนอว่าควรนำเอาแนวทางดังกล่าวมาใช้กับประเทศไทยเพื่อให้มีเงินไหลเข้ามาในระบบมากขึ้น (เนื่องจากจะต้องมีการขยายบริการเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว ได้มีการนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ซึ่งผมก็ได้รับข้อมูลมาว่าประเทศไต้หวันมีระบบ co-payment ที่ได้ผลดีมากในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศ
แต่ผมจะขอ “มองต่างมุม” จากแนวคิดดั่งเดิมของนักเศรษฐศาสตร์ว่า พื้นฐานของความท้าทายด้านสาธารณสุขคือ ความไม่แน่นอน เพราะมาระยะหลังนี้ เราจะพบว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้น เกือบ 75% เกิดจากการเป็นโรคไม่ติดต่อ (non-communicable disease หรือ NCD) ซึ่งจะวนเวียนอยู่ใน 4 โรคหลักคือ โรคหัวใจ (รวมถึงเส้นเลือดอุดตันในสมองหรือ stroke ด้วย) โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม
ซึ่ง 4 โรคที่กล่าวถึงนั้น จะมีสาเหตุเบื้องต้นจากแนวทางการใช้ชีวิต (lifestyle) เกือบทั้งหมด เช่น การเป็นมะเร็งเพราะสูบบุหรี่ (การเป็นโรคอ้วนก็ทำให้เป็นมะเร็งได้เช่นกัน) การไม่ออกกำลังกายและคุมน้ำหนักไม่ได้ เพราะกินน้ำตาลมากเกินไปก็จะทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวาน เป็นต้น
ส่วนโรคสมองเสื่อมนั้นก็ได้เคยมีการวิเคราะห์ว่าการใช้ชีวิตที่ทำให้สุขภาพดีจะลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ประมาณ 40% เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ผมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของสุขภาพของคนไทย แล้วพบว่า เป็นภาพที่น่าเป็นห่วงและน่าจะคาดการณ์ได้ว่าปัญหาสุขภาพจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติได้ เช่น
1. จากจำนวนคนไทยที่เป็นโรคเบาหวาน 100 คนนั้น สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เพียง 11 คน คนไทยที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 6.9% ของประชากรผู้ใหญ่ในปี 2009 มาเป็น 9.5% ของประชากรในปี 2021 สาเหตุหลักน่าจะเพราะคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 28 ช้อนชาต่อวันเมื่อเทียบกับคำแนะนำให้บริโภคน้ำตาลได้ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (เบาหวานยังเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตวายอีกด้วย)
2. จากจำนวนคนไทย 100 คนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง มีเพียง 16 คนเท่านั้นที่คุมอาการดังกล่าวได้ ทำให้สัดส่วนประชากรที่ความดันโลหิตสูงเกินเกณฑ์เพิเมขึ้นจาก 21.4% ในปี 2009 มาเป็น 25.4% ในปี 2021 ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสัดส่วนของคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปที่น้ำหนักตัวเกินเพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2009 มาเป็น 42.2% ในปี 2021 และสัดส่วนของคนไทย (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่ออกกำลังกายน้อยเกินไปเพิ่มขึ้นจาก 18.5% ในปี 2009 มาเป็น 43.7% ในปี 2021
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าปัญหาสุขภาพของคนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องของความไม่แน่นอน และคงจะต้องรีบแก้ไข โดยอาศัยแนวทางของการส่งเสริมให้สุขภาพดี (promote healthcare) ไม่ใช่รีรอให้ต้องเข้ามารับการรักษาโรค (medical care) ซึ่งระบบสาธารณสุขก็คงจะต้องได้รับการปฏิรูปอย่างกว้างขวางจึงจะตอบโจทย์ดังกล่างได้ครับ.