แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2567 | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเริ่มปรับการคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจในปีหน้าตามข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่
Fitch Ratings ได้ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกอีกครั้ง โดยเศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีขึ้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นจีน แต่การคาดการณ์ในปีหน้า 2567 ก็ลดลงเหลือ 1.9%
การปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าลดลง เกิดจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน ภาวะการเงินที่ตึงตัวซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในสหรัฐฯ และยุโรป
โดยสหรัฐฯ อาจเผชิญกับโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ส่วนในด้านการเงิน เฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สูงแต่ใกล้จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว
ในขณะเดียวกัน Moody's ได้ปรับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเพิ่มประมาณการการเติบโตของสหรัฐฯ ในปีนี้จาก 1.1% เพิ่มเป็น 1.9% จากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น
แต่ก็คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะขัดขวางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้า โดยคงอัตราการเติบโตไว้ที่ 1%
Moody's ยังกังขาเกี่ยวกับความสามารถของเฟดในการลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมาย 2% ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน ประเทศจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลง ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหาและแรงงานที่มีอายุมากขึ้น ส่งผลให้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีหน้าลงจาก 4.5% เหลือ 4.0%
โดยสังเกตว่าการฟื้นตัวจากนโยบายปลอดโควิดที่ยืดเยื้อนั้นช้ากว่าที่คาดไว้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงต่ำ
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เองก็ได้ออกรายงานการสำรวจความคิดเห็นและมุมมองของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ซึ่งได้ให้ข้อมูลเชิงลึกและการคาดการณ์ที่สำคัญที่น่าสนใจ
โดยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไป พบว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจทั่วโลกดูเหมือนจะลดลงพร้อมกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ 61% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอลงในปีหน้า แม้ว่าความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะลดน้อยลง แต่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนซึ่งเพิ่งประสบกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ก็เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2567 ปัจจัย “พลวัตทางการเมือง” จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก นักเศรษฐศาสตร์ 90% คาดว่า “เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์” จะเป็นตัวขับเคลื่อนความผันผวนทางเศรษฐกิจหลัก
และ 79% เชื่อว่าการเมืองในประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะ “การเลือกตั้งสหรัฐ” ที่กำลังจะมาถึงจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้และคาดว่าจะรักษาวิถีการเติบโตในปีหน้า
เศรษฐกิจของเอเชีย ยกเว้นประเทศจีน ยังมีสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่งของเอเชียจะยังคงดำเนินต่อไปในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจจีนค่อนข้างชัดเจนว่าชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด การคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าการบริโภคภายในประเทศจีนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนั้นไม่เกิดขึ้นจริง และแรงกดดันด้านเงินฝืดก็เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังมีสัญญาณของความเปราะบางสูง และมีตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่ยังน่ากังวล โดยนักเศรษฐศาสตร์เพียง 54% เท่านั้นที่คาดการณ์การเติบโตของจีนในระดับปานกลางหรือแข็งแกร่งในปีนี้ ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในแง่ดีของเดือนพฤษภาคมที่ 97%
ในด้านเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 86% เชื่อว่าจุดสูงสุดของเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงภายในปีหน้า ความเชื่อมั่นนี้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงิน
โดย 93% คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะชะลอตัวลง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเฉพาะภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แม้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะสดใสขึ้น แต่ยุโรปก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ในทางกลับกัน จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ตรงกันข้ามคือ แรงกดดันด้านเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น
ปีหน้าเป็นปีที่ความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยหากสรุปเพียงคำเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่รออยู่ในปีหน้าสำหรับเศรษฐกิจโลก ก็จะเป็นคำว่า “ความผันผวน” (volatility)
ดังนั้น ภายใต้คลื่นลมทะเลโลกที่ยังคงผันผวนในปีหน้า รัฐบาลจึงต้องล่องคลื่นการเปลี่ยนแปลงด้วยความชาญฉลาด เก็บเกี่ยวแสวงหาโอกาสจากการฟื้นตัวหลังโควิดในหลายประเทศผ่านการส่งเสริมท่องเที่ยวและส่งออกอย่างจริงจัง
พร้อมกับดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวัง รักษาวินัยการเงินการคลัง ใช้เงินงบประมาณที่มีจำกัดอย่างมุ่งเป้า แก้ปัญหาให้ตรงจุด เน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและลงทุนใหม่ พัฒนาทุนมนุษย์และปรับลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเป็นสำคัญ
ในคลื่นลมทะเลที่ผันผวน กับตันเรือคนใหม่ควรจะมีการเตรียมพร้อมและทบทวนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น ส่งเสริมความแข็งแกร่งทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถผ่านพ้นความท้าทายได้อย่างยั่งยืน.