’เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ทำเศรษฐกิจอ่อนแอ เครดิตประเทศลด เสี่ยงขาดดุลสูง
เสี่ยงโดนปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือ! สื่อนอกชี้ นโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ทำประเทศขาดดุล หนี้พอกพูน “Fitch Ratings” ห่วง เพิ่มแรงกดดันหนี้สาธารณะ ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่หวัง
ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ยังคงฝุ่นตลบ หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีเชิญ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยก่อนหน้านี้ “ดร.นก” เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า ควรเป็นการทำแบบเฉพาะกลุ่มจะช่วยประหยัดงบประมาณ และไม่กระทบเสถียรภาพจนเกินไป นอกจากผู้ว่าฯ คนปัจจุบันแล้ว กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของไทย นำโดยอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ “วิรไท สันติประภพ” และ “ธาริษา วัฒนเกส” ร่วมออกแถลงการณ์ค้านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมกับนักเศรษฐศาสตร์รวม 99 คน ระบุว่า นโยบายนี้อาจทำประเทศเสียโอกาสการลงทุน และ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
ไม่เพียงกลุ่มนักการเงิน-นักวิชาการไทยเท่านั้น แต่บรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตทางการเงินระดับโลกยังมีความเห็นไปในทิศทางคล้ายกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า “เศรษฐา ทวีสิน” ตั้งเป้าจีดีพีประเทศเติบโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4 ปี ทว่า แผนการดำเนินงานแรกๆ ของรัฐบาลชุดนี้กลับเป็นความพยายามในการผลักดันนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” มีงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในโครงการสูงถึง 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการดำเนินนโยบายพักชำระหนี้ไปพร้อมกับการแจกเงินดิจิทัลด้วย ท่ามกลางการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงมีแนวโน้มที่ประเทศจะขาดดุลทางการคลัง นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงในการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้
บลูมเบิร์กชี้ว่า เป้าหมายของ “เศรษฐา ทวีสิน” ในตอนนี้ คือการผลักดันให้ประเทศเติบโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ตามที่เจ้าตัวได้ลั่นวาจาไว้ นโยบายของรัฐบาลจึงทุ่มไปกับการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และอุปทานในตลาด แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น รวมทั้งยังกระทุ้งความตึงเครียดระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายตรงตามเป้าหมายมากขึ้น
“มูดีส์” (Moody’s) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลัง รวมทั้งยังเป็นเพิ่มภาระหนี้ให้ภาครัฐมากขึ้น ยิ่งในตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการคลังในระยะกลางว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะหากหนี้สูงอันดับเครดิตประเทศก็จะลดลงด้วย
ด้าน “เอสแอนด์พี” (S&P Global Ratings) ระบุว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายแจกเงินจะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เร็วขึ้น หากมีการกู้ยืมเพิ่มก็จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปีงบประมาณ 2566 กระทบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้อันดับเครดิตลดลงได้ โดย “เอสแอนด์พี” มองว่า ตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้จะเติบโต 2.8 เปอร์เซ็นต์ และในปีหน้า (ปี 2567) จะขยายตัวเพิ่มเป็น 3.5 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่กำลังทยอยฟื้นตัว รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
“ฟิทช์ เรตติ้ง” (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” คือรัฐบาลจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพระดับหนี้สาธารณะได้ เนื่องจากงบประมาณการคลังตกต่ำเป็นเวลานาน การดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้ประเทศขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการใช้จ่ายภายในประเทศจากการกระตุ้นด้วยนโยบายแจกเงินไม่สามารถพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแรง ก็อาจสร้างแรงกดดันทำให้อันดับเครดิตประเทศลดลงในที่สุด
อ้างอิง: Bloomberg