น้ำเต็มเขื่อน เกษตรฯ ปรับแผนฤดูแล้ง เคาะทำนาปรัง 6 ล้านไร่
กระทรวงเกษตรฯเปิดทางทำนาปรังรอบ 6 ล้านไร่ หลังมรสุมทำน้ำในเขื่อนเพื่มขึ้น กว่า 14 แห่งน้ำเกิน 80 % ชงคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเห็บชอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ไฟเขียว
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ที่กรมชลประทาน โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย ว่า จากคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน เมื่อต้นปี 2566 ที่ไทยเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ จึงคาดว่าปริมาณฝนทั่วประเทศจะต่ำกว่าคาดการณ์ฝนปกติอัตรา 27% แต่ในสถานการณ์จริง ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จากอิทธิพลของร่องมรสุมพัดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ตลอดไปถึงภาคอีสาน แต่ยังต่ำกว่าปีปกติประมาณ 9%
การคาดการณ์ฝนที่น้อยกว่าค่าปกตินั้น ส่งผลให้กรมชลประทานประกาศงดทำนาปรัง เนื่องจากไม่สามารถสนับสนุนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ได้(1 พ.ย.2566-30 เม.ย. 2567) แต่หลังจากสถานการณ์ฝนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายเขื่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยอ่างขนาดใหญ่ 14 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำดีมาก เกิน 81% ของความจุอ่าง และมีปีริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี 80% ของความจุอ่าง จำนวน 17 แห่ง
“ปริมาณน้ำมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีฝนตกจำนวนมาก ทำให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสในการทำนาปรังในพื้นที่เขตชลประทาน และทั่วประเทศได้ใกล้เคียงปีก่อน 2565 คือ 6 ล้านไร่ แต่จะต้องผ่านการประชุมคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ หากมีมติเห็นชอบ กระทรวงเกษตรฯ จะนำเข้าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป”
ขณะนี้ปริมาณน้ำทั่วประเทศใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ อาทิ บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล จะใช้เวลาไม่เกิน 20 วันจากนี้ไป หรือไม่เกิน 10 พ.ย.น้ำที่ท่วมขังหรือเอ่อล้น จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนภาคกลางอยู่ระหว่างการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน และการนำน้ำเข้าเก็บในทุ่ง ในพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการเพื่อทำการเกษตรในรอบต่อไป เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝน
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 31,874 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,870 ล้านลบ.ม. ที่มี 2565 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 38,744 ล้านลบ.ม.ส่วนปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 8,524 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีจำนวน 9,673 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,401 ล้าน ลบ.ม.
ในจำนวนนี้มีจำนวน 8 เขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีน้ำสูงกว่า เกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีน้ำ 277 ล้านลบ.ม. หรือ 105% ของความจุอ่างฯ เขื่อนแม่มอกมีน้ำ 114 ล้านลบ.ม. หรือ 104% ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม มีน้ำ 101 ล้านลบ.ม. หรือ 95% ของความจุอ่างฯ เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำ 134 ล้านลบ.ม. หรือ 99% ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำพุง มีน้ำ 149 ล้านลบ.ม. หรือ 91% ของความจุอ่างฯ
เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ 2,243 ล้านลบ.ม. หรือ 92% ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว มีน้ำ 2,117 ล้านลบ.ม. หรือ 107% ของความจุอ่างฯ และเขื่อนขุนด่านปราการชลมีน้ำ 221 ล้านลบ.ม. หรือ 99% ของความจุอ่างฯ