“จุลพันธ์”พร้อมแจงป.ป.ช.นโยบายแจกเงินดิจิทัลยึดกรอบวินัยกฎหมาย

“จุลพันธ์”พร้อมแจงป.ป.ช.นโยบายแจกเงินดิจิทัลยึดกรอบวินัยกฎหมาย

“จุลพันธ์”พร้อมแจงป.ป.ช.ยืนยันนโยบายแจกเงินดิจิทัลยึดกรอบวินัยกฎหมาย ตั้งเป้าแจกภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เชื่อกระชากเศรษฐกิจโตได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อห่วงใยของทุกฝ่ายเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อนำมาปรับปรุงเงื่อนไขการแจกเงินให้เหมาะสมและรอบคอบมากที่สุด โดยล่าสุดมีข้อห่วงใยจากคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งดูแลเรื่องนี้มาช่วยดูให้เกิดความรอบคอบ จะเกิดประโยชน์ที่ดีมาก

“ขอเรียนว่า เราพร้อมที่จะเข้าไปพบกับคณะกรรมการป.ป.ช.และพบกับคณะกรรมการที่มาตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงิน เราจะเข้าไปนำเสนอโครงของเราและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อขจัดข้อสงสัย รับฟังคำแนะนำของป.ป.ช.เพื่อนำมาปรับใช้ให้กลไกของนโยบายของเรามีความสมบูรณ์ เมื่อมีการนัดหมาย ผมจะไปชี้แจงด้วยตัวเอง”

เขากล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งพิจารณาโครงการแจกเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้นโยบายดังกล่าวได้นำมาใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีความล่าช้า ซึ่งจะนำมาใช้ได้เร็วสุดภายในเดือนเม.ย.2567

“ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาที่จะนำโครงการดังกล่าวมาใช้ที่ตึงตัวพอสมควร การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายดังกล่าวจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในต้นปี เพื่อช่วยชดเชยความล่าช้าของการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567

อย่างไรก็ดี แม้การพิจารณาเงื่อนไขโครงการนี้ จะมีข้อจำกัดด้วยเงื่อนเวลา แต่รัฐบาลจะพิจารณารายละเอียดโครงการนี้ ด้วยความรอบคอบและรัดกุม โดยขอให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวยึดกรอบการพิจารณาตามวินัยกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และขอยืนยันว่า การแจกเงินในโครงการดังกล่าว จะไม่มีความรั่วไหล ฉะนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องการทุจริต

เขายืนยันด้วยว่า ด้วยเงื่อนไขการแจกเงินที่คลอบคลุมระดับฐานรากที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ จะช่วยกระชากให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ระดับประมาณ 5%  จากปัจจุบันที่ขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น ทั้งนี้ ในแง่ความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่จะใช้นั้น เรายังหมายถึงความคุ้มค่าทางสังคมที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้