ตั้ง 'ผู้ว่าฯ กฟผ.' ส่อลากยาว รอ 'บอร์ดใหม่' ถกวิสัยทัศน์อีกรอบ
จับตาการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ภายใต้รัฐบาล "เศรษฐา" ภายหลังต้องเปลี่ยนบอร์ด กฟผ. ใหม่ "ปลัดพลังงาน" ระบุ หากรัฐบาลตั้ง คนร. ชุดใหม่เสร็จเร็ว ภายใน 1 เดือน ตั้งบอร์ด กฟผ. แล้วเสร็จ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566 นั้น ยังต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.)หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อบอร์ดกฟผ. แล้ว คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ภายใน 1 เดือน
"การแต่งตั้ง "ผู้ว่าฯ กฟผ." จะต้องรอการแต่งตั้ง คนร. ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อน เพื่อเสนอรายชื่อบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่ โดยหากสามารถตั้งบอร์ด กฟผ. ได้แล้ว จะมีการเสนอแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ได้ ส่วนตัวก็อยากให้ขั้นตอนแล้วเสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว เพราะก็ไม่อยากให้ กฟผ. มีรักษาการนานจนเกินไป"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีความเห็นให้อำนาจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน อนุมัตินายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. แต่หลักคิดของเรื่องนี้ คือ ในช่วงที่มีกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ได้ผ่านคณะกรรมการสรรหาฯ และ บอร์ด กฟผ. เป็นผู้พิจารณา เพื่อเสนอมายังกระทรวงพลังงานนำเสนอรายชื่อเพื่อให้ครม. เห็นชอบ
ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนกรรมการ กฟผ. ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ว่าจะในฐานะปลัดกระทรวงพลังงาน หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถือเป็นเพียงผู้นำเสนอรายชื่อเข้า ครม. เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนบอร์ด กฟผ. ก็คงอยากให้กรรมการ กฟผ. พิจารณาอีกครั้งว่า นายเทพรัตน์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากกรรมการชุดก่อนเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
"ตนจะต้องหารือกับนายเทพรัตน์ใน 2 ประเด็นหลัก อาทิ คือ 1. กระบวนการสรรหาว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งข้อนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร และ 2. เมื่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แล้วจะดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงานหรือรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมี Key Performance Indicators (KPI) หรือ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งต้องคุยว่า จะมีกระบวนการอย่างไร เหมือนฟังวิสัยทัศน์อีกรอบ โดยกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่"
ส่วนกรณีที่นายเทพรัตน์ จะมีอายุการทำงานเหลือไม่ถึง 2 ปี หากต้องรอบอร์ด กฟผ. ชุดใหม่นั้น จะต้องดูระเบียบว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอยู่ในพระราชบัญญัติหรือเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ แล้วมีอำนาจหรือไม่ จึงจะต้องไปดูข้อบังคับตัวนี้อีกครั้ง หากเป็นระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการฯ แล้วจะมีการอนุโลมได้หรือไม่ ถ้าหารือแล้วทำงานร่วมกันได้ มีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็อาจจะอนุโลมได้ อยู่ที่การตกลงร่วมกัน
สำหรับโจทย์หลัก ๆ ที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
“คนร.ก็ต้องมีการแต่งตั้งใหม่เมื่อตั้งแล้วก็คงจะพิจารณาการตั้งบอร์ดกฟผ.ได้ จากนั้นบอร์ดกฟผ. เองก็จะต้องมาดูรายชื่อผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ที่ได้ผ่านคัดเลือกมาโดยเฉพาะประเด็นว่าจะครบวาระ 2 ปีหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าสามารถยืดหยุ่นได้หากเห็นว่าเหมาะสม ขณะเดียวกันยังคงพูดคุยถึงเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการชี้วัด KPI เป็นต้น"
นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงพลังงาน คาดว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเสนอรายชื่อต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครม. วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 นี้ โดยส่วนตัวมองว่าผู้บริหารในสังกัดกระทรวงพลังงานมีความรู้ความสามารถทุกคน