'พลังงาน' จ่อถก 'คลัง' ต่อมาตรการลดภาษี 'น้ำมันดีเซล'

'พลังงาน' จ่อถก 'คลัง' ต่อมาตรการลดภาษี 'น้ำมันดีเซล'

"กระทรวงพลังงาน” จ่อหารือ "กระทรวงการคลัง" ขอขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อเนื่อง หลัง "กองทุนน้ำมัน" ติดลบเฉียด 7 หมื่นล้าน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ราคาพลังงานไว้ทุกสถานการณ์ โดยสิ่งแรกที่จะทำเพื่อดูแลราคาพลังงานในการลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน คือ หารือกับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ขยายระยะเวลามาตรการลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลลงไปอีก จากเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 อนุมัติให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.2566 ร่วมกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะอยู่ระหว่างการกู้เงินที่ยังเหลืออีก 50,333 ล้านบาท มาเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันฯ เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศ ตามพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยได้ลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท จากวงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยจะต้องกู้ให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 5 ต.ค.2566 โดยปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ได้เบิกเงินกู้ยืมไปแล้ว 55,000 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า  แม้ว่าตามพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ได้ครบกำหนดไปแล้ว กองุทนน้ำมันฯ ยังสามารถกู้เงินหรือเป็นหนี้ได้อีก 20,000 ล้านบาท โดยอาศัย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 สามารถใช้มาตรา 26 เป็นต้น

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 8 ต.ค. 2566 ติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,005 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจถึงการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงพลังงานในทุกด้าน กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ส่วนมาตรการช่วยเหลือน้ำมันเบนซินเฉพาะกลุ่มนั้น ขณะนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ได้เสนอแผนช่วยเหลือต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียบร้อยแล้ว

"โครงการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จะมีลักษณะเหมือนกับโครงการวินเซฟ ซึ่งกรอบวงเงินและระยะเวลารอให้ผ่านที่ประชุมเพื่อสรุปอีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ส่วนเรื่องค่าการตลาด ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำเสนอต่อรมว. พลังงานเช่นกัน ซึ่งหากโครงสร้างแล้วเสร็จจะครอบคลุมการช่วยเหลือทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลและเบนซิน"