'พรบ.กรมรางฯ' คาดใช้ปลายปี 67 วางมาตรฐาน - เกณฑ์ค่าโดยสาร
“สุรพงษ์” ดัน พรบ.กรมรางใช้ปลายปี 2567 หวังคุมระบบขนส่งทางรางมาตรฐานเดียวกัน กำหนดเพดานค่าโดยสาร จี้ทุกโครงข่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยระบุว่า เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของระบบขนส่งทางรางจึงเร่งรัดให้ ขร.จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. ....ซึ่งทราบว่าเบื้องต้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายปี 2567
“ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ได้มีการเสนอร่างฯ วาระที่ 1 ไปแล้ว แต่ถูกตีกลับ เนื่องจากหมดสมัยรัฐบาลชุดก่อน จึงเสนอไม่ทัน และปิดสภาฯ ไป โดย พ.ร.บ.ฯ มีระยะเวลาในการพิจารณาร่างประมาณ 90 วัน ทำให้ไม่ทันและต้องกลับมาสู่ขั้นตอนแรก คือ เสนอสภาฯ ในวาระที่ 1 อีกครั้ง เมื่อผ่านวาระที่ 1 หลังจากนั้น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ก่อนเข้าสู่วาระที่ 2-3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า จึงคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2567”
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ให้เร่งรัดแล้วเสร็จตามแผน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ปัจจุบันยังติดขัดอยู่ 2 สัญญา คือ ช่วงสถานีอยุธยา และช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ทางร่วมกับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน เรื่องนี้ต้องเร่งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาร่วมกับเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และนโยบายต้องการเร่งรัดให้เปิดบริการก่อนแผนกำหนดในปี 2570
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ประโยชน์หลังจาก พ.ร.บ.กรมราง มีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น โดย
1.การออกกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ขับขี่รถไฟ หรือรถไฟฟ้าที่ประมาท อาทิ ผู้ขับขี่มีการมึนเมา และมีความผิดพลาดในการตรวจสอบรถที่ไม่ได้มาตรฐาน
2.การคุ้มครองและเยียวยาผู้โดยสารที่มีความล่าช้าหรือขัดข้องจากการให้บริการ
3.การกำหนดค่าโดยสาร ในราคาต่ำสุดและสูงสุด
สำหรับหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า หรือระบบรางทั้งหมด เมื่อ พ.ร.บ.กรมราง ประกาศใช้ การกำหนดรายละเอียดคุ้มครองและเยียวยาผลกระทบผู้โดยสาร ตลอดจนกำหนดเพดานราคาค่าโดยสาร จะต้องการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังจากนั้นผู้ประกอบการทุกรายจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด
“เมื่อ พ.ร.บ.กรมราง มีผลบังคับใช้แล้ว ในปี 2567 เป็นต้นไป จะไม่มีการเก็บค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานใด หรือโอเปอร์เรเตอร์รายใดก็ตาม ครอบคลุมบริการระบบรางทั้งหมด แต่การใช้บริการที่เสียค่าแรกเข้าครั้งเดียวต้องใช้บัตร EMV บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตเท่านั้น"
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า เมื่อ พ.ร.บ.กรมรางมีผลบังคับใช้ นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายก็จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะหากคณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบให้ดำเนินการ ทุกภาคส่วนเห็นพร้อมกันก็จะทำได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงรถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว ก็จะเกิดการเจรจาได้ง่ายขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ความคืบหน้าไฮสปีดเทรนไทยจีนตอนนี้ปัญหาช่วงสถานีอยุธยาได้ข้อสรุปให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เดินหน้าก่อสร้างรางรถไฟก่อน ส่วนสถานีอยุธยาที่ยังติดข้อกังวลจากกรมศิลปากรเกี่ยวกับโบราณสถาน ร.ฟ.ท.จะต้องเจรจาให้ได้ข้อสรุปหลังจากนี้ ส่วนช่วงดอนเมืองที่มีปัญหาทับซ้อน ต้องตั้งคณะทำงานเพื่อเริ่มเจรจากับกลุ่มซีพีให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเบื้องต้นมีแนวทางไว้ว่าหากท้ายที่สุดการเจรจาไม่เป็นผล ร.ฟ.ท จะต้องลงทุนก่อสร้างช่วงทันซ้อนดังกล่าวเองก่อน ทั้งหมดนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาของไฮสปีดไทยจีนแล้วเสร็จ และเร่งรัดก่อสร้างและเปิดบริการในปี 2569 ก่อนแผนที่กำหนด