EECว่าที่ฮับไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคตของไทย
ก๊าซบลูไฮโดรเจน เป็นก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผ่านกระบวนการ Steam Methane Reforming (SMR) ที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เพิ่มเติม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็น 5% ตั้งแต่ปี 2574 ซึ่งหากมีการใช้ก๊าซบลูไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 1.9% เมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ จ.ระยอง มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตก๊าซบลูไฮโดรเจน เนื่องจากมีแหล่งก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะรองรับการขยายกำลังการผลิตก๊าซบลูไฮโดรเจนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี 2574 โดย บจก.บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิต และให้บริการเกี่ยวกับก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรมของไทย ประเมินว่า ไทยมีกำลังการผลิตไฮโดรเจนจากกระบวนการ SMR ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงราว 97,640 ตัน/ปี โดยปัจจุบัน มีการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากการผลิตดังกล่าว ประมาณ 68,510 ตัน/ปี จึงเหลือกำลังการผลิตที่สามารถใช้ผลิตก๊าซบลูไฮโดรเจนราว 29,130 ตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะอยู่ใน จ.ระยอง เกือบทั้งหมด เนื่องจากมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติของกลุ่ม ปตท. ที่เป็นแหล่งรวบรวม และแปรรูปก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ถึง 5 หน่วย ซึ่งมีสัดส่วนของกำลังการผลิตสูงถึง 90% ของกลุ่ม ปตท.
นอกจากนั้น ในกรณีที่อาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตก๊าซบลูไฮโดรเจนเพิ่มเติม จ.ระยอง ยังมีสถานีกักเก็บ และแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ (LNG Terminal ) ที่คาดว่าจะสามารถรองรับการจัดเก็บ และแปลงสภาพของ LNG จากต่างประเทศ ได้ถึง 29.8 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2570 ซึ่งปริมาณ LNG ดังกล่าวสามารถผลิตก๊าซบลูไฮโดรเจนได้สูงถึง 9.1 ล้านตัน/ปี ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ไฮโดรเจนของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในปี 2574 ที่ Krungthai COMPASS ประเมินว่าจะอยู่ราว 4.9 แสนตัน/ปี ถึง 17.6 เท่า
อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในช่วงแรก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซบลูไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมจะสูงกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ต้นทุนจะทยอยลดลงในระยะถัดไปเมื่อมีการผลิต และใช้บลูไฮโดรเจนมากขึ้น โดยเมื่อประเมินจากต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปี 2566 พบว่า การผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซบลูไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในสัดส่วน 5% จะอยู่ที่ประมาณ 3.32 บาท/หน่วยไฟฟ้า สูงกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งอยู่ที่ราว 2.86 บาท/หน่วยไฟฟ้า ดังนั้น ภาครัฐจึงควรออกนโยบายสนับสนุนการใช้ก๊าซดังกล่าวในแง่ของการเก็บภาษีคาร์บอน และชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าผ่านการรับซื้อไฟฟ้า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์