ต่างด้าวรับอนุญาตทำธุรกิจในไทย 9 เดือนมูลค่าลงทุน “ 8.4 หมื่นล้าน ”

ต่างด้าวรับอนุญาตทำธุรกิจในไทย  9 เดือนมูลค่าลงทุน “ 8.4 หมื่นล้าน ”

เดือน ก.ย.ต่างด้าวขนเงินทำธุรกิจในไทย เฉียด 2 หมื่นล้านบาท ขณะ 9 เดือนแรกปีนี้มูลค่าลงทุนรวม 8.4 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นเข้าวินลงทุนในไทยสูงสุด ขณะธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่ม7พันราย เม็ดเงินขับเคลื่อนธุรกิจ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มเลิกกิจการ 2 พันราย มูลค่าหาย 1.7 หมื่นล้านบาท

หน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนึ่งคือ “ภาคธุรกิจ” ซึ่งรวมตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ และการเข้ามาประกอบธุรกิจจริงของนักลงทุนต่างชาติผ่านการขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเลขานุการ

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว 9 อดือนแรก ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.)  คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 493 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 84,013 ล้านบาท

ขณะที่เดือนก.ย. 2566  มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 37 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,229 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค. 2566 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 2% หรือเพิ่มขึ้น 1 ราย ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1.67 เท่า  หรือ เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท

ญี่ปุ่นรั้งแชมป์ลงทุนในไทยสูงสุด

ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 948 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐจำนวน 9 ราย เงินลงทุน 916 ล้านบาท และ สิงคโปร์ จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 6,524 ล้านบาท ตามลำดับ

ด้านการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนก.ย. 2566 และไตรมาส 3/2566 โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนก.ย. 2566

จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนก.ย. 2566 จำนวน 7,107 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 24,170.64 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 562 ราย คิดเป็น 8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 529 ราย คิดเป็น 7% รองลงมา และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 344 ราย คิดเป็น 5% ตามลำดับ

นายจิตรกร กล่าวว่า จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำเดือนก.ย. 2566 มีจำนวน 2,039 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 17,229.98 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ต่างด้าวรับอนุญาตทำธุรกิจในไทย  9 เดือนมูลค่าลงทุน “ 8.4 หมื่นล้าน ”

“ชลบุรี”ธุรกิจเกิดใหม่สูงสุด

ส่วนประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 167 ราย

คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 103 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 68 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

สำหรับข้อมูลธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC) ประกอบด้วย เขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง

การจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในเดือน ม.ค. – ก.ย. 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 7,583 ราย

ทุนจดทะเบียน 35,121.95 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ม.ค. - ก.ย. 2565 จำนวน 6,294 ราย เติบโตเพิ่มขึ้น คิดเป็น 20.48% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,219.99 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 29.03% โดย 75.52% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจำนวน 5,727 ราย

ด้านธุรกิจที่มีการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 56.26% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 41.88% รองลงมาคือ จีน มีสัดส่วนคิดเป็น 16.00% และสิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็น 6.41% โดยมีการลงทุน ในจังหวัดระยองสูงสุดคิดเป็น 51.36%

เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่าธุรกิจที่ลงทุนโดยสัญชาติญี่ปุ่นสูงสุด 3 อันดับแรก เรียงลำดับจากมูลค่าทุนจดทะเบียน ได้แก่1. ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 82,542.57 ล้านบาท 2. ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าการลงทุน 38,667.31 ล้านบาท และ3. ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 31,797.31 ล้านบาท