นบข.ไฟเขียวจ่ายเงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท
ที่ประชุมนบข. อนุมัติ เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงินงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท เตรียมชงครม.14 พ.ย.นี้ เริ่มจ่ายได้ทันที
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 56,321.07 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67 ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค 2566 ไปจนถึง 30 ก.ย. 2567
สำหรับการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้น คาดว่า จะเสนอเพื่อขออนุมัติ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 พ.ย. โดยคาดว่า เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และจะเริ่มจ่ายเงินทันทีหลังมีมติครม. โดยผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร คาดว่าชาวนาจะได้รับเงินภายในเดือนพ.ย.
“งบประมาณที่ใช้ รัฐบาลจะดูแล การใช้งบประมาณ โดยไม่ให้ผิดวินัยการเงินการคลังโดยการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท มีกรอบวงเงินจ่ายขาด 56,321 ล้านบาท กำหนดเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท กับเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือคิดเป็นเงิน 20,000 บาท ต่อครัวเรือน “
สำหรับในปีหน้ารัฐบาล เตรียมการ จะปรับโครงสร้างการผลิต ข้าว และ ปีนี้จะะเป็นปีสุดท้ายที่ใช้นโยบายช่วยชาวนาแบบจ่ายเงินขาด แต่จะมีมาตรการอื่นๆมาทดแทน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ เช่น โครงการลดต้นทุนเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านนวัตกกรม เพื่อให้มีการผลิตข้าวคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ เพื่อ ลดการใช้งบประมาณลง
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามมติครม. เมื่อวันที 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบ โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 2566/2667 ได้แก่ 1.เห็นชอบราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสด ความชื้นไม่เกิน 25% จะให้สินเชื่อตันละ 12,000 บาท และให้ค่าเก็บรักษาคุณภาพ ระยะเวลา 5 เดือน ตันละ 1,500 บาท ดังนั้น หากเกษตรกรที่เก็บรักษาผลผลิตด้วยตัวเองจะได้ เงินสินเชื่อ 13,500 บาทต่อตัน แต่กรณีชาวนาไม่มีที่เก็บต้องไปฝากสถาบันเกษตรหรือสหกรณ์ช่วยเก็บให้ สหกรณ์จะได้เงิน 1,000 บาท ส่วนเกษตรกรได้ 500 บาท โดยมีเป้าหมายดูดซับเปลือกหอมมะลิ ประมาณ 3 ล้านตัน
2. โครงการสินเชื่อสถาบันการเกษตร เข้าไปแทรกแซงตลาดหรือแย่งซื้อข้าวเปลือกในราคานำร่อง สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 25% ตันละ 12,200 บาท เพื่อให้สูงกว่าราคาตลาดและเมื่อนำมาซื้อและขายได้แล้วจะต้องแบ่งกำไรให้กับชาวนา ตันละ 200-300 บาท เป้าหมายดูดซับ 1 ล้านตัน
ทั้ง 2 โครงการนี้ใช้งบประมาณจ่ายขาด 10,600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการแรก ดอกเบี้ย ธ.ก.ส. รัฐบาลช่วยจ่าย แต่ในโครงการที่ 2 ดอกเบี้ย 4.50- 4.85% รัฐบาลจะช่วย ชดเชย 3.50-3.85% ขณะที่สถาบันการเงินจะชดเชยให้ 1% และทั้งนี้ เมื่อรวม 3 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 6.6 หมื่นล้านบาท
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปดูแลให้สหกรณ์การเกษตรรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสดจากเกษตรกรในราคาตันละ 12,000 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมนอกเหนือจากมาตรการที่ นบข. ได้มีมติออกมา เพื่อช่วยดูแลราคาข้าวให้กับเกษตรกร ส่วนข้าวที่สหกรณ์ซื้อไว้ ก็จะนำไปแปรรูปหรือดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ได้กำชับปลัดกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งอธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ว่า ต้องปฏิบัติตามมติครม. แต่หากสถาบันเกษตรกรใด ซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ต่ำกว่านี้ ธ.ก.ส. จะมีมาตรการขั้นเด็ดขาดดังนั้น อย่าซื้อราคาต่ำกว่านี้เป็นการเอาเปรียบชาวนา