ประเทศไทยถึงเวลา ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์
ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” เกิดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีต้นกำหนดจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติมาต่อยอด อาทิ ก๊าซธรรมชาติ และนำมาสู่การขยายธุรกิจพลังงานด้วยเทคโนโลยี นับตั้งแต่การพัฒนาแก๊ซโซฮอล์ ไบโอดีเซล จนมาถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
อรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ในโอกาสครบรอบ 36 ปี ถึงมุมมองของเศรษฐกิจไทยว่า ที่ผ่านมา ปตท.มีส่วนร่วมนำปิโตรเคมีมาสร้างฐานให้ประเทศเติบโตมาระยะหนึ่ง ถือเป็นเครื่องยนต์เครื่องหนึ่ง ดังนั้น อนาคตต่อจากนี้ จะต่อยอดทรัพยากรอย่างเดียวไม่ได้จะต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้าง New S-Curve ให้ประเทศ
"เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ เปรียบเสมือนรถยนต์ที่เริ่มเก่า น่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ เพื่อเร่งความเร็วให้ทันรถคันอื่น ที่มีเครื่องยนต์ใหม่กว่าเพื่อการแข่งขัน อาจเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน"
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานยังต่อยอดได้ อาจต้องพ่นเปลี่ยนสีใหม่ หากเทียบการใช้งานเศรษฐกิจไทยนั้น ถือว่าไม่หนักแต่เป็นการใช้มานาน ไม่มีการบำรุงรักษาที่ดีมากกว่า จึงถึงเวลาที่จะต้องหันมาดูแลอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ โลกต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงกำหนด Future Energy สู่ธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจ EV Value Chain ที่เปลี่ยนการใช้พลังงานให้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งทำให้กลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจ EV ตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่วัสดุประกอบตัวรถ แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ
รวมถึงแบตเตอรี่ที่เป็นหน่วยกักเก็บและสำรองพลังงาน เพราะพลังงานทดแทนจะไม่สามารถผลิตพลังงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังศึกษาพลังงานแห่งอนาคต เช่น ไฮโดรเจน และนิวเคลียร์ และศึกษาเทคโนโลยีใหม่ต่อเนื่อง
ส่วนการออกนอกธุรกิจพลังงานที่ไทยอยู่บนฐานอุตสาหกรรมเดิมมาหลายปี จะต้องมี New S-Curve ที่ ปตท.ได้นำเป้าหมายประเทศมาตั้งและขับเคลื่อน 5 ธุรกิจ คือ Life sciences, High Value Business, Mobility & Lifestyle, Logistics และ AI & Robotics
สำหรับเครื่องมือและอุตสาหกรรมสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทย คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลักดันอุตสาหกรรม อาทิ
1.สินค้าเกษตร ต้องยกระดับให้เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง
2.ไบโอเทคโนโลยี ที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
3.การแพทย์ ต้องต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนทางการแพทย์
4.โลจิสติกส์ ที่ถือเป็นเส้นเลือดที่ต้องลงทุน ประเทศไทยต้องเลือกเทคโนโลยีที่ดีเพื่อเอามาต่อยอด
ดังนั้น กุญแจสำคัญคือการคัดเลือกเทคโนโลยีที่ดีและเหมาะสม และใช้คนที่มีความรู้ความเข้าใจ มองออกทั้งเทคโนโลยีและธุรกิจ
“ปตท.อยู่ช่วงขยายไปธุรกิจใหม่ เพราะธุรกิจเดิมต้องเปลี่ยนผ่านทั้งขยายการลงทุนธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ การขยายตัวต้องทำตอนที่ยังเข้มแข็ง จะทำตอนอ่อนแอไม่ได้ หากเทียบอายุวัยเกษียณต้องทำตั้งแต่อายุ 50 ปี เพราะการเริ่มทำของใหม่ถือว่ายังไม่แน่นอน อาจเป็นของใหม่ที่หว่านเมล็ดไปแล้ว บางเมล็ดงอกบ้างไม่งอกบ้าง ดังนั้น ยังมีธุรกิจเดิมเสริมอยู่จะเสริมการเติบโตได้ แม้ช่วงนี้จะไม่ใช่ช่วงก้าวกระโดด เพราะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงธุรกิจใหม่ที่ต้องใช้เวลาออกดอกออกผล”
สำหรับข้อเสียเปรียบของไทยหากเทียบประเทศเพื่อนบ้านอยู่ที่มีประชากรอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไป ราว 10% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีไม่มาก ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจระหว่างรุ่นให้ได้ ซึ่งอาจไม่ใชประเด็นทางเศรษฐกิจแต่จะเป็นประเด็นสังคม
ขณะที่ Generation Gap ของไทยแม้โครงสร้างความต่างของอายุใกล้เคียงบางประเทศ แต่หากเทียบกับญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ Generation Gap น้อยกว่าไทย ด้วยความคิดและมุมมองที่แตกต่างระหว่างวัยที่ไทยอาจสูงว่าจึงต้องหาทางลดตรงนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ก่อนไปทำเรื่องอื่น รวมทั้งในการเติมความรู้ให้เท่าทัน ปตท. ทำใน 2 มิติ คือ
มิติที่ 1 โรงเรียนทั่วไป โดยมีโรงเรียนในเครือข่ายที่ส่งเสริ่มการเรียนรู้ 100 กว่าโรงเรียนในระดับทั่วไป
มิติที่ 2 โรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ไม่ได้เรียนแค่ทฤษฎีแต่เน้นการวิจัย โดย ปตท.จัดตั้ง VISTEC เพื่อสนับสนุนผลงานของอาจารย์มาต่อยอดมาเป็นธุรกิจ รวมทั้งส่งทีมธุรกิจร่วมหารือและร่วมมือกับธนาคารลงทุนในคณะที่สนใจ จึงเกิดผลงานหลายชิ้น และปัจจุบันได้จัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัปแล้ว
อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญ หากรัฐบาลจะส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรมมองว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นเวทีให้นักวิจัยและนักศึกษาได้มาก เพราะส่วนหนึ่งเมื่อจบแล้วจะต้องไปทำงานต่างประเทศ เพราะบางสาขาไม่มีเวทีรองรับ ดังนั้น หากรัฐบาลให้ความสนใจการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เกิดเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในประเทศ เวทีเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาที่จบมีเวทีให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถได้เต็มที่
“ความหวังไทยที่จะขยับไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ส่วนตัวก็ยังคงมีความหวัง เมื่อหวังแล้วก็ต้องทำและมุ่งเป้าไปให้ได้ โดยประเทศที่รายได้สูงมีรายได้กว่า 1.3 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปี ซึ่งไทยอยู่ในระดับ 7 พันดอลลาร์ ซึ่งต้องทำอีกเท่าตัว ดังนั้นเชื่อว่าถ้าตั้งความหวัง เป้าหมาย มุ่งมั่น ร่วมมือกัน อย่างสามัคคีจะถึงเป้าหมายได้แน่นอน”