เงินเดือนข้าราชการ 25,000 บาท ดันเพดานค่าจ้างงานภาคเอกชน
"เอกชน" มองนโยบายรัฐเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี กระตุ้นการบริโภคกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดการเคลื่อนย้ายแรงงานรัฐ-เอกชน อาจเกิดระยะสั้นตามกลไกตลาดเสรี ย้ำการขึ้นค่าแรงต้องเป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 25,000 บาท และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนโยบายที่ภาคเอกชนจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อตลาดการจ้างงานของภาคเอกชน
ในอดีตที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้นโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ ทำให้ตลาดแรงงานมีการปรับตัว โดยบริษัทเอกชนส่วนหนึ่งปรับเงินเดือนระดับปริญญาตรีเพื่อให้เพดานเงินเดือนของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นจากภาคราชการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน 2 ข้อ คือ
1.การลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
2.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีมองว่ารัฐบาลสามารถสั่งการได้และสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่า ใขณะที่ประเด็นการขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐมากขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ เป็นไปตามกลไกของตลาดเสรี
"เมื่อภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวได้ก็จะมีกำลังจ่ายค่าจ้างได้สูงกว่าและดึงแรงงานกลับมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูง (High Skilled Labor) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดกลับยังขาดแคลนอยู่มาก"
ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชนยืนยันว่าควรต้องเป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัด
สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชนและขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีไปพร้อมกัน โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เกิดการการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งดำเนินการควบคู่กับนโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน เช่น การลดราคาค่าไฟฟ้า การลดราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชนที่ขับเคลื่อนดิจิทัลวอลเล็ต
เงินเดือนข้าราชการดันเงินเดือนเอกชน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าของรัฐ เป็นประเด็นที่ต้องรอดูว่ามีผลครอบคลุมข้าราชการกลุ่มใดบ้าง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบปรับเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานราชการในแต่ละครั้ง จะมีการปรับเงินเดือนครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐประเภทอื่น เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
“ผลของการขึ้นเงินเดือนราชการปริญญาตรี 25,000 บาท และอัตราค่าแรงต่อวันสูงขึ้นก็เป็นส่วนที่ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป”
รวมทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการย่อมส่งผลให้มีการปรับอัตราเงินเดือนของภาคเอกชนตามไปด้วย โดยปัจจุบันการจ้างงานเด็กจบใหม่ปริญญาตรี ส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนจะเริ่มต้นอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท ตามปัจจัยความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงขนาดของแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับอัตราค่าจ้างวุฒิการศึกษาอื่นปรับขึ้นตามไปด้วย เช่น ปวช.และปวส.
โพลล์ “ซีอีโอ”หนุนเพิ่มทักษะแรงงาน
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (FTI Poll) พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า อัตราการจ้างงานในปัจจุบันได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แล้วและคาดว่าในปีนี้การจ้างงานจะยังมีแนวโน้มคงที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและชะลอตัว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัวในหลายมิติ
โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการแรงงานและการจ้างงาน ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการ Upskill/Reskill และสร้าง New Skill เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่การดำเนินธุรกิจในยุคใหม่ ซึ่งมีการเริ่มใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้แรงงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาประสิทธิภาพแรงงาน
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการขยายสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานเพื่อ Upskill/Reskill เป็นลดหย่อนภาษีได้ 250% เท่ากับการอบรมทักษะขั้นสูงที่ได้รับการรับรองจาก สอวช. เพื่อจูงใจภาคเอกชนให้มีการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในทุกด้าน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 เป็น ทักษะทางวิศวกรรม (Engineering Skills) อันดับ 2 เป็น ทักษะทางดิจิทัล (Digital Skills) และอันดับ 3 เป็น ทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics)