‘พาณิชย์’ ก้าวพลาด โดดเข้ามาคุมราคาน้ำตาล
กระทรวงพาณิชย์ กลับนโยบายควบคุมราคาน้ำตาลภายใน 2 สัปดาห์ หลังใช้อำนาจ พ.ร.บ.ราคาสินค้า เข้ามาคุมตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ราคาหน้าโรงงาน-ขายปลีก-ส่งออก หลังทำความเข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่ ประกาศยกเลิกคุมราคาขายปลีกและส่งออก
รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศนโยบายดูแลค่าครองชีพประชาชน เริ่มต้นด้วยการลดราคาดีเซล เบนซินและไฟฟ้า
ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 กิโลกรัมละ 4 บาท
การประกาศของ สอน.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ต้องกำหนดราคาหน้าโรงงานเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในระบบ 70:30
ทันทีที่ สอน.ประกาศออกมา ทำให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทบทวนทันที เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำตาล
กระทรวงพาณิชย์นัดประชุมคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 30 ต.ค.2566 โดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ดังนี้
1.กำหนดราคาหน้าโรงงาน โดยให้น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท
2.กำหนดราคาขายปลีกราคาน้ำตาลในประเทศ โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท
3.กำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยประหลาดใจกับมาตรการดังกล่าว เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่เคยเข้ามาควบคุมราคาหน้าโรงงาน
รวมทั้งสร้างความสับสนว่าจะใช้ราคาหน้าโรงงานที่ประกาศตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย หรือใช้ราคาหน้าโรงงานที่ประกาศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
“มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เห็นการไม่ทำการบ้านของรัฐบาล รวมทั้งการไม่เข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”
เป็นความเห็นของ นายวิโรจน์ ณ ระนองผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หลังจากกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการดังกล่าว
นายวิโรจน์ ยังเห็นว่า การที่กระทรวงพาณิชย์มาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบดังกล่าว เป็นแนวทางที่ถอยหลังเข้าคลองย้อนไปก่อนที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งยกเลิกการควบคุมราคาขายปลีกในประเทศเมื่อปี 2561
หลังจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ก่อนที่จะตั้ง นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่ประธานคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
สำหรับนายยรรยง เคยทำหน้าที่อธิบดีกรมการค้าภายใน (2550-2552) , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (2552-2555) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (2556-2557) ในยุคที่น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง)
คณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 หรือ 2 สัปดาห์หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ
โดยมีข้อสรุปให้ยกเลิกราคาหน้าโรงงานที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566 และให้ปรับราคาหน้าโรงงานขึ้น 2 บาท ดังนี้
1.ราคาทรายขาว กิโลกรัมละ 21 บาท
2.ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 22 บาท
ทั้งนี้ มีข้อเสนอถึงรัฐบาลหากต่อไปจะเปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทั้งขึ้นหรือลง ขอให้ประสานงานใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะรับผิดชอบภารกิจต่างกัน
"เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้องมีการประสานงานกันระหว่าง 2 กระทรวง เพิ่มมากขึ้น" นายยรรยง กล่าว
นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานเพียง 2 บาท เพราะผู้บริโภคไม่ควรมารับภาระทั้งหมด 4 บาท
"น้ำตาลขึ้น 2 บาทตอนนี้ก็โอเคแล้วส่วนที่เหลืออีก2บาทที่จะมาจัดการฝุ่น PM2.5 จะไม่ให้ขึ้นแต่ให้ไปดูว่าจะทำอย่างไร” นายภูมิธรรมกล่าว
สำหรับการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จะมีคณะกรรมการดูแลอุตสาหกรรมทั้งระบบรวม 5 คณะ
โดยแต่ละคณะจะมีผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนโรงงานและผู้แทนชาวไร่ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อนำมาสู่ระบบการแบ่งปันผล 70:30 ดังนี้
1.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)
2.คณะกรรมการบริหาร (กบ.)
3.คณะกรรมการอ้อย (กอ.)
4.คณะกรรมการน้ำตาล (กน.)
5.คณะกรรมการกองทุน (กท.)
ทั้งนี้ ในคณะกรรมการทุกชุดจะมีผู้แทนภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นที่รับทราบข้อมูลกันผ่านกลไกดังกล่าว
แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมราคาหน้าโรงงาน ราคาขายปลีกและขออนุญาตการส่งออก มีการคาดการณ์ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยอมถอยมาตรการดังกล่าว
"กระทรวงพาณิชย์คงประเมินแล้วว่าเข้าไปควบคุมทั้งหมดไม่ได้ เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปลี่ยนไปแล้ว"
สำหรับการแก้ไขมาตรการล่าสุด กระทรวงพาณิชย์เลือกที่จะควบคุมเฉพาะราคาหน้าโรงงาน โดยเห็นว่าเป็นราคาต้นทางของการขายปลีกน้ำตาล
ทั้งนี้ หากกระทรวงพาณิชย์ยังต้องการเป็นผู้กำหนดราคาหน้าโรงงานต่อไป คงต้องทำการบ้านให้หนักขึ้นในการพิจารณาข้อมูลต้นทุนการเพาะปลูกของชาวไร่และต้นทุนการผลิตของโรงงานน้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของ สอน.
นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า หากกระทรวงพาณิชย์ต้องการควบคุมราคา ควรเข้ามาควบคุมเฉพาะราคาขายปลีก
ในขณะที่ราคาหน้าโรงงานเป็นราคาที่คำนวณมาจากต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยของชาวไร่และต้นทุนการผลิตน้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมา สอน.เป็นเจ้าภาพในการจัดทำต้นทุนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบมาตลอด