'MJets' มอง 10 ปี ธุรกิจการบินโตก้าวกระโดด หนุนนักลงทุนอยู่ไทยนานขึ้น

'MJets' มอง 10 ปี ธุรกิจการบินโตก้าวกระโดด หนุนนักลงทุนอยู่ไทยนานขึ้น

"MJets" ชี้การบินไพรเวทเจ็ทหนุนขีดความสามารถแข่งขันไทย ดึงนักธุรกิจต่างชาติอยู่ไทยยาว ขยายโอกาสลงทุน เร่งรัฐขยายโครงสร้างพื้นฐานรับการเติบโตเดินทางอากาศในอนาคต

นายณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MJETS กล่าวในงานสัมมนา “POSTTODAY SMART CITY THAILAND 2024” ในหัวข้อ "นโยบายผลักดันไทยสู่ Smart City" เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 ว่า การคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งการเดินทางด้วยไพรเวทเจ็ทเองก็เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไม่ได้เป็นไปเพื่อการตอบสนองความหรูหราเพียงเท่านั้น จากสถิติกว่า 90% ของผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวก็เพื่อกิจกรรมทางธุรกิจ การเดินทางเพื่อขยายการลงทุน นอกจากนี้ 80% ของผู้บริหารในบริษัทท็อป 50 ของสหรัฐก็มักจะเดินทางด้วยไพรเวทเจ็ท

ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าเดินทางของไพรเวทเจ็ทนั้นจะมีมูลค่าที่สูงกว่าการเดินทางเชิงพาณิชย์ทั่วไป แต่ในมุมมองของบริษัทขนาดใหญ่แล้ว "เวลา" เป็นมูลค่าที่สูงกว่าตัวเงิน เช่นเดียวกับโจทย์ของสมาร์ทซิตี้ที่ทุกอย่างต้องรวดเร็วขึ้น ฉลาดมากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งไพรเวทเจ็ทจะเข้ามาตอบโจทย์อนาคตการเดินทางระหว่างเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นที่จะไปหาโอกาสทางธุรกิจได้เพิ่มขึ้น

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือการรวบรวมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้คน โดยในมุมของธุรกิจการบินเชื่อว่าในอนาคตการเดินทางมาสนามบินจะประหยัดเวลาได้มากขึ้น ซึ่งบางอย่างเกิดขึ้นแล้วในสนามบินทั่วโลก อาทิ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า การเอ็กซ์เรย์ 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนการขยายสนามบินอีกหลายแห่ง ได้แก่ แผนขยายทางวิ่งที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินเชียงใหม่ 2 และสนามบินพังงา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเดินทางในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นตัวช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 


 

นอกจากนี้สนามบินในภูมิภาคอาเซียนยังมีแนวโน้มขยายตัวอีกมาก ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา

"ซึ่งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ก็จะสามารถรองรับการเดินทางที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนในการเดินทางในภาพรวมต่ำลงด้วย โดยเฉพาะการเดินทางด้วยไพรเวทเจ็ทในภูมิภาคอาเซียนที่ปัจจุบันยังมีต้นทุนสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ"

นายณัฏฐภัทร กล่าวว่า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนเครื่องบินในประเทศที่จะขยายตัวมากกว่า 3-4 เท่า คาดว่าธุรกิจไพรเวทเจ็ทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปัจจุบันมีเครื่องในบินส่วนตัวในไทย 25-30 ลำ จะทะลุ 100 ลำแน่นอน แต่ปัจจุบันยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินรองสำหรับไพรเวทเจ็ทมากพอ 

"ธุรกิจการบินส่วนบุคคลมีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้น จากการให้บริการนักลงทุนต่างประเทศที่นายกฯ ได้ออกไปเชิญชวนเข้ามาในไทย ซึ่งยิ่งถ้าโครงสร้างพื้นฐานในประเทศพร้อมก็จะยิ่งทำให้พวกเขาอยู่ที่ไทยนานขึ้นและมีโอกาสขยายธุรกิจและการลงทุนตามไปด้วย"

ส่วนในประเด็นเรื่องความยั่งยืนและวิกฤติเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายณัฏฐภัทร กล่าวว่า ไพรเวทเจ็ทมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 2% ทุกปี โดยท่าอากาศยานไทย (AOT) เองก็มีส่วนในการผลักดันเรื่อง "SAF: Sustainable Aviation Fuel” หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 80% จากเชื้อเพลิงปกติ

"ปัจจุบันในไทยยังไม่มีการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวให้กับสายการบิน แต่สิงคโปร์ได้เริ่มมีการใช้แล้ว ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยการมอบนโยบายให้สนามบินและผู้จำหน่ายน้ำมันอากาศยานให้มีการผลิตและจำหน่าย Saf Fuel อย่างเต็มความสามารถและกำหนดให้ภายใน 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีสัดส่วนการใช้น้ำมัน Saf เป็น 50% ของทั้งหมด"

อย่างไรก็ตาม ราคาของเชื้อเพลิง Saf Fuel สูงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 25-30% ซึ่งน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญของสายการบิน ดังนั้นหากรัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้จะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงกังกล่าวได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป ด้วยส่วนประกอบของ Saf Fuel มาจากน้ำมันใช้แล้วในครัวเรือนและเศษกระดาษ