ถอดรหัสเศรษฐกิจไทย “จีดีพี” ไตรมาส 3 ปี 2566
ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เป็นไตรมาสที่น่าจับตามากและถือเป็นการพิสูจน์ว่าเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจถืออยู่ในมือจะทำนายได้แม่นยำเพียงใด คำตอบ คือ ไม่ได้ผิดคาดมากนัก เพราะผมก็คาดไว้ก่อนแล้วว่า “ไม่น่าจะดีกว่าไตรมาสที่ 2”
เท้าความกันหน่อยว่า ปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ช่วงปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นปีนี้ ทุกหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี จึงไม่แปลกที่จะบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว
ต่อมาตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ชักไม่เป็นไปตามที่คาด
หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจก็ทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง 2-3 ครั้ง คราวนี้ไม่มีหน่วยงานใดบอกว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี แล้ว เพราะสัญญาณจากเครื่องชี้เศรษฐกิจมันฟ้อง
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประกาศว่า ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ทีนี้ลองมาถอดรหัสว่า ตัวเลขเหล่านี้พยายามบอกอะไรเราบ้าง ผมสรุปได้ 12 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1.เศรษฐกิจไทย 3 ไตรมาสแรกมีแนวโน้มชะลอตัว : ถ้าเอาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเรียง 3 ไตรมาส จะเห็นว่าเศรษฐกิจเราชะลอลงจากร้อยละ 2.6 เหลือร้อยละ 1.8 และเหลือร้อยละ 1.5
ฉะนั้น 3 ไตรมาสแรกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ดีกว่าค่าเฉลี่ยปี 2561-2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และกลับไปเท่ากับค่าเฉลี่ยปี 2556-2560 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี
2.ส่งออกสินค้ายังคงหดตัวแต่มีสัญญาณดีขึ้น : ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 3 หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี หดตัวในอัตราที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
สะท้อนถึงทิศทางที่ดีขึ้น และสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ว่ากลับมาขยายตัวเป็นบวกแล้วในเดือนสิงหาคมและกันยายน
3.ท่องเที่ยวยังขยายตัวสูงแต่ชะลอลง : ในด้านการใช้จ่ายเราดูภาคการท่องเที่ยวผ่านการส่งออกบริการ พบว่า ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.1 ต่อปี แต่ชะลอลงเป็นลำดับจากปลายปี 2565
สะท้อนว่า ภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าใกล้ระดับปกติก่อนโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวประเทศไทยเกือบ ๆ 40 ล้านคน หรืออาจจะมองได้ว่าการท่องเที่ยวเริ่มหมดแรงส่งต่อเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ การส่งออกบริการเฉลี่ย 10 ปี ก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี เท่านั้น
4.การบริโภคภาคเอกชนเป็นเดอะแบกเศรษฐกิจไทย : การบริโภคภาคเอกชนไตรมาสที่ 3 ขยายตัวสูงปรี๊ดที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี เฉลี่ย 3 ไตรมาส ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.3 ต่อปี ขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีหลังที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี และยังขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี
5.การบริโภคสูงเพราะได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว : การบริโภคภาคเอกชนแบ่งเป็น 11 หมวด ปรากฏว่า หมวดที่ขยายตัวได้ดีมาก ๆ ได้แก่ หมวดร้านอาหารและโรงแรมขยายตัวร้อยละ 36.9 ต่อปี และหมวดบริการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี
ทั้ง 2 หมวดนี้มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 23 ของการบริโภคภาคเอกชน หรือเกือบ 1 ใน 4 แล้ว ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว ดังนั้น หากท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในระดับปกติ แรงส่งนี้อาจจะลดลง
6.การลงทุนรวมขยายตัวได้จากภาคเอกชน : การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เกิดจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี แต่การลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ซึ่งเกิดจากการก่อสร้างซ่อมแซมถนนและสะพานลดลง การจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน ยานพาหนะ และเครื่องมือทางการแพทย์ลดลง
7.ผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องตามการส่งออก : การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ -4.0 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องมาแล้ว 4 ไตรมาส และเป็นการลดลงทั้งอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนละเทคโนโลยี ตัวนี้จะลดลงสอดคล้องกับการส่งออกและนำเข้า เพราะอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง
8.ภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้น้อย : ภาคการเกษตรขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 ต่อปี เป็นผลจากปริมาณน้ำกักเก็บและปริมาณฝนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ผลผลิตหลัก เช่น ข้าว มัน ปาล์ม สับปะรดลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ยังคงลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงลดลง
9.ภาคบริการเกี่ยวกับท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี : ที่พักแรมและร้านอาหารขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี การคมนาคมขนส่งขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี ทั้ง 2 ตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากต้นปี แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 11 ของ GDP รวม 3 ไตรมาสในปี 2566
10.สินค้าคงคลังระบายล้างสต็อก : มูลค่าสินค้าคงคลังของไตรมาส 3 ลดลงกว่า 1.8 แสนล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ -175 ต่อปี รวม 3 ไตรมาส ลดลงไปแล้วกว่า 1.9 แสนล้านบาท
สะท้อนว่า มีการนำสินค้าในโกดังไปขาย มากกว่าที่จะผลิตเข้ามาเติมในโกดัง เช่น ข้าวเปลือก สินค้าอุตสาหกรรม และน้ำมันดิบ ทำไมไม่ผลิตเพิ่ม ก็อาจจะเป็นเพราะการส่งออกยังหดตัวตามความต้องการซื้อที่ยังชะลอตัว ก็เลยชะลอการผลิตไปก่อน รอจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว
11.คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นในไตรมาสที่ 4 : สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี หมายความว่า ไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวให้ได้ร้อยละ 3.9 ต่อปีเป็นอย่างน้อย (ช่วงคือร้อยละ 3.9 – 4.2 ต่อปี) ทั้งปีจึงจะได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี สูงกว่านี้คือกำไร
12.ยอมรับว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะชะลอลงจากปี 2565 : การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ต่อปี หมายความว่า สภาพัฒน์ฯ ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจปี 2566 สู้ปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ไม่ได้ และจะฟื้นตัวชัดเจนในปี 2567 ตามที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 2.7 – 3.7 ต่อปี
จาก 12 ประเด็นข้างต้น ทำให้เราถอดรหัสได้ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอลตัวลงอันเป็นผลจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสะท้อนผ่านการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง
2) ภาคการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงโรงแรม ภัตตาคาร คมนาคม และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่เคยมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูง ๆ ก่อนหน้านี้ เริ่มอ่อนแรงลงต่อเนื่อง และ
3) การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐก็ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่จนกว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จ และเริ่มเบิกจ่ายอัดฉีดเศรษฐกิจได้ราว ๆ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และหลังจากนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่แนวโน้มการฟื้นตัวจริง ๆ อย่างที่ควรจะเป็นเสียที
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด