'กพร.' ชูหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มมูลค่าการส่งออกปีละ 7.9 พันล้าน
"กพร." หนุนผู้ประกอบการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน รับนโยบาย MIND สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสการส่งออกกว่า 7,900 ล้านบาทต่อปี และลดการปลดปล่อยคาร์บอนกว่า 12,000 ตันต่อปี
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ “Innovation in Raw Materials Conference 2023: Circular Economy in MIND ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน” ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด MIND ที่มุ่งพัฒนา “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ผ่านความสำเร็จ 4 มิติ ทั้งความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน
เพื่อให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคอุตสาหกรรมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน ผสมผสานกับการผลักดันให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation–Driven Entrepreneurship) จะเป็นตัวเร่งไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจที่ยั่งยืน
โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการส่งเสริม พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ในหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้ กพร. ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการให้มีการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และยกระดับสถานประกอบการให้มีการประกอบการและผลิตสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสการส่งออกคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,900 ล้านบาทต่อปี และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 12,000 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี
“ผลงานครั้งนี้ เป็นตัวอย่างของการยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด MIND และเป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำของรัฐบาล” นายณัฐพล กล่าว
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ในฐานะที่ กพร. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (Primary Raw Materials) และวัตถุดิบทุติยภูมิที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (Secondary Raw Materials) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการยกระดับผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย MIND ของ อก. โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมพื้นฐาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์
จนกระทั่งการจัดการเศษซากผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยเน้นการนำกลับมาหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบทุติยภูมิให้แก่ภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างผลงานในปีนี้ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาวัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าแร่ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์ซีโอไลต์ (Zeolite) จากแร่ดินขาว สำหรับใช้เป็นวัสดุดูดซับกลิ่นหรือบำบัดน้ำเสีย (จากแร่ดินขาว 700-900 บาทต่อตัน เป็น Zeolite 17,000-20,000 บาทต่อตัน) และได้ผลิตเป็นทรายแมว Zeolite เทคโนโลยีการผลิตยิปซัมเกรดอาหาร สำหรับใช้ผลิตอาหารประเภทเต้าหู้อ่อน ขนมขบเคี้ยว หรือเป็นสารตัวเติมในการผลิตเบียร์ (จากแร่ยิปซัม 1,000 บาทต่อตัน เป็นยิปซัมเกรดอาหาร 40,000 บาทต่อตัน)
การพัฒนาต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 ในอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การยกระดับสถานประกอบการให้มีการประกอบการและผลิตสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ CBAM และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์รีไซเคิล การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อแยกสกัดแร่/โลหะที่มีมูลค่าสูงกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม การอัพไซเคิล (Upcycle) เปลือกแมคคาเดเมีย (Macadamia) ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขัดผิวหน้า (Face Scrub) ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน กพร. ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ รวมกว่า 80 ชนิด โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยกว่า 400 รายต่อปี
สำหรับงานสัมมนาวิชาการ “Circular Economy in MIND ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การผลิตวัตถุดิบ (ทดแทน/ขั้นสูง) ในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาองค์กรควบคู่กับความยั่งยืน โดยมีการบรรยายมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในประเทศและระดับสากล การสร้างนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และได้รับเกียรติจากบริษัทที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน มาร่วมบรรยาย รวมทั้งมีการเผยแพร่นวัตกรรมและผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ตัวอย่างการดำเนินงานของสถานประกอบการที่มีการดำเนินการดีเด่นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดแสดงผลงานที่สำคัญของ กพร. โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ