ไทยแลนด์ต้อง Digital First ใช้เงินน้อย เห็นผลเร็ว
ข่าวดีจากการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็คือจะมีธุรกิจต่างประเทศขนาดใหญ่มาลงทุนในเมืองไทย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อันได้แก่ กูเกิลและไมโครซอฟท์ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ได้มาด้อมๆ มองๆ ประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว
ถ้ามาจริงข่าวจากทางสภาดิจิทัลแห่งชาติจากสื่อโทรทัศน์ก็ระบุว่า การลงทุนนี้จะต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลประมาณ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะกูเกิลบริษัทเดียว แม้ว่าตัวเลขนี้อาจจะดูสูงไปมากสำหรับการเข้ามาทำดาต้าเซนเตอร์ แต่ผู้ได้รับประโยชน์ในภาคต่างๆ จากกิจกรรมนี้ก็น่าจะมีจำนวนสูงมากจริง โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวทันโลกก็จะมีสูงขึ้น
การพัฒนาด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยจะต้องใช้ปรับโครงสร้างการผลิตเข้าไปสู่โหมดใหม่ ที่มีความกระชุ่มกระชวยขึ้น เศรษฐกิจของไทยซบเซามานานแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 อัตราการเจริญเติบโตของไทยต่ำกว่าประเทศในอาเซียน
การลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงที่ไปสร้างอุตสาหกรรมการผลิต และการลงทุนผ่านตลาดทุนก็ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
ต่างประเทศหันไปลงทุนในเวียดนาม จีน อินเดีย แม้ว่าก่อนจะเกิดโควิด-19 สักสองสามปีนั้นไทยได้อาศัยการท่องเที่ยวมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาปีนี้เมื่อการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ฟื้นตัว ประเทศไทยก็ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น
ลักษณะการเจริญเติบโตก่อนที่จะเกิดโควิด-19 นั้น เราพูดกันว่าเป็นลักษณะของนิวนอร์มอล (new normal) ที่ต่ำ (low) และเมื่อโควิด-19 ซาไปเราก็กลับไปอยู่ในสภาพนิวนอร์มอลที่ต่ำเหมือนเดิมอีก แทนที่จะพุ่งทะยานขึ้นไป
คำถามก็คือว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ การเจริญเติบโตของไทยชะลอตัวลงเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งในด้านสินค้าที่โลกต้องการและทั้งในด้านการผลิต รวมทั้งมาตรฐานการรักษากฎหมาย
แม้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยไปตามกระแสโลกแต่สังคมสูงวัยก็มีปัญหา ทำให้ความต้องการหรือดีมานด์ในภาพรวมต่ำลง เนื่องจากผู้สูงวัยมักจะมีรายได้ต่ำลงในช่วงท้ายของชีวิตและมีกิจกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจลดลง ส่วนใหญ่ไม่ทำงานและเริ่มใช้จ่ายลดลงหรือถ้าทำงานก็มักมีผลิตภาพการผลิตที่ต่ำกว่าเดิม
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทยอื่นๆ ที่หนักหนาสาหัสก็คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงทั้งในด้านการเกษตร การศึกษาด้านขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทยโดยทีดีอาร์ไอ ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคนไทย 4.0 พบว่าเรามีจำนวนสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนน้อยกว่าสินค้าที่เรามีความสามารถในการแข่งขันลดลง
เราสูญเสียตลาดข้าวสำคัญๆ ไปให้เวียดนาม ซึ่งเคยล้าหลังแต่กลับสามารถทำวิจัยและพัฒนาจนก้าวล้ำไทยไปจนช่วงชิงตลาดไปจากเราได้
ในด้านการผลิต ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของเรามีการเจริญเติบโตต่ำ กำไรน้อย มีการออกจากภาคการผลิตสูง (เจ๊งง่าย) มีผลิตภาพการผลิตต่ำ และขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ขาดนวัตกรรมด้านการผลิตและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์
แม้รัฐบาลจะตั้งความหวังไว้ว่า จะมีการพัฒนานวัตกรรมในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย แต่จำนวนนักวิจัยของเราที่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้เป็นเทคโนโลยีก็ยังมีจำนวนน้อย และไม่มีพลังพอที่จะฉุดเศรษฐกิจให้พุ่งไปเช่นเดียวกับโนเกียสำหรับฟินแลนด์ และซัมซุงสำหรับเกาหลี
ปัญหาเชิงโครงสร้างของเราอีกอย่างก็คือ การพึ่งพาตลาดต่างชาติบางตลาดมากเกินไป เช่น ตลาดจีนซึ่งเราพึ่งพาในตลาดนักท่องเที่ยวถึง 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาประเทศไทยในปี 2562 ส่วนในเรื่องเกษตรเราก็พึ่งพาจีนที่เป็นตลาดทุเรียนซึ่งตอนนี้กลายเป็นสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งแทนข้าว
ปัญหาการเมืองของไทยก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเชิงซ้อนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่มีปัญหาหลายปัญหาพัวพันกัน เช่น การไม่บังคับใช้กฎหมายหรือการใช้สองมาตรฐาน ปัญหาคอร์รัปชันทำให้ปฏิบัติการภาครัฐไม่ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งไปมีผลกระทบไปทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
เช่น ธุรกิจจีนสีเทาในวงการท่องเที่ยวของไทย ก็เป็นตัวบั่นทอนความต้องการท่องเที่ยวของคนจีน ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศลำดับ 6 ที่คนจีนอยากจะมาแทนที่จะเป็นประเทศที่หนึ่งเหมือนทุกปี
เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจที่ไทยเรื่อยๆ มาเรียงๆ ของไทย การแก้จึงไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านด้าน การกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น ดิจิทัล Wallet แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับโครงสร้างซัพพลาย
โครงสร้างที่ต้องปรับที่สำคัญที่สุดก็คือ เราขาดแรงงานที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนไทยที่จบอุดมศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีจำนวนมากกว่าผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึง 2 เท่ากว่าคือ 70 ต่อ 30 คน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
สภาดิจิทัลแห่งชาติของเรารายงานว่า คนไทยขาดแคลนทักษะด้านภาษาอังกฤษและ ICT มากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทักษะภาษาอังกฤษไทยอยู่ในลำดับที่ 97 ขณะที่มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 24 และเกาหลีอยู่ในลำดับที่ 36 ส่วนทักษะด้าน ICT พื้นฐาน ไทยมีบุคลากรที่มีทักษะนี้ประมาณร้อยละ 17 ของประชากร ขณะที่มาเลเซียมีถึงร้อยละ 69
เมื่อมาดูทักษะ ICT มาตรฐานไทยมีบุคลากรประมาณร้อยละ 10 มาเลเซียมีร้อยละ 52 และเมื่อมาดูทักษะขั้นสูงในด้าน ICT เรามีแค่ร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับร้อยละ 16 ของมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดการลงทุนของต่างชาติในระยะหลังนี้ จึงไม่ค่อยสนใจประเทศไทยเท่าใดนัก
การทุ่มเทฝึกทักษะคนไทยด้านดิจิทัล จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวทันโลก เพราะเป็นวิธีการที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดอานิสงส์กระจายไปทุกอุตสาหกรรม จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มและกระจายรายได้ไปในเวลาเดียวกัน น่าจะสำคัญกว่าแลนด์บริดจ์ที่เอาเงินมหาศาลไปกระจุกอยู่ในพื้นที่เดียว
การขนส่งโดยผ่านแลนด์บริดจ์ อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในอนาคต ที่กระบวนการผลิตเทคโนโลยี และการใช้พลังงานกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มิหนำซ้ำการลงทุนในแลนด์บริดจ์ก็จะทำเรายิ่งพึ่งพาต่างชาติมากขึ้น
อยากให้นายกฯ หันมาพิจารณายุทธศาสตร์ Digital First อย่างจริงจัง และเริ่มต้นโดยเปลี่ยนให้รัฐบาลไทยเป็น e-government อย่างแท้จริง ให้การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสวัสดิการสำหรับทุกคน
เชื่อเถอะ ไทยแลนด์ต้อง Digital First เพราะใช้เงินน้อยกว่า เห็นผลเร็วกว่าและเกิดอานิสงส์ถ้วนหน้า!