"เศรษฐกิจไทย" จุดอ่อนสำคัญและช่องทางแก้ไข
ไทยมีวิวัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอันมากในช่วงนี้คือ สถิติที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานออกมาว่า ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1, 2 และ 3 ของปีนี้ ที่ 2.6%, 1.8% และ 1.5% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยก็ได้ขยายตัวช้าลงตลอดมาจาก 5.62% ต่อปีในปี 2546-2550 เป็น 3.30% ต่อปีในปี 2551-2555, 2.88% ต่อปีในปี 2556-2560 และ 0.86% ต่อปีในปี 2561-2565 เนื่องจากในยุคของโลกาภิวัตน์ดังเช่นปัจจุบัน ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศเป็นอันมาก
บทความนี้จึงมีจุดประสงค์ที่จะประเมินดูว่า ที่ผ่านมาไทยมีวิวัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยระยะยาวเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในแต่ละช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตามที่แสดงในตารางที่ 1 ชี้ว่าไทยคงประสบอุปสรรคขั้นพื้นฐานบางประการที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้าลงอย่างต่อเนื่อง หรือขาดความยืดหยุ่นที่พอจะมีบ้างในประเทศเพื่อนบ้าน
บางฝ่ายอาจตั้งประเด็นคำถามไว้ 2 ด้านด้วยกันว่า เศรษฐกิจไทยกำลัง “โตต่ำกว่าศักยภาพ” หรือ “ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโตต่ำลง”
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ บทความนี้จึงเพ่งความสนใจไปที่ (ก) ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (เพราะการลงทุนช่วยสร้างศักยภาพ) และ (ข) ทรัพยากรมนุษย์ (เพราะมีบทบาทที่สำคัญทั้งในการใช้และ/หรือเปลี่ยนแปลงระดับของศักยภาพ)
อัตราส่วนที่แสดงในตารางที่ 2 ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการลงทุนที่แท้จริงของไทย (โดยเฉพาะประเภท FDI) ได้ลดลงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตั้งแต่วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐและวิกฤติโควิด-19 การลดลงของสัดส่วนการลงทุนนี้ ย่อมส่งผลลบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
แต่เพื่อเป็นการยืนยันข้อสรุปเช่นนั้น เราควรพิจารณามุมมองของชาวต่างชาติบ้างว่า มองทรัพยากรมนุษย์ของไทยอย่างไร เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอันมากแก่การลงทุน และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของไทยในการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลเช่นนี้อย่างแน่นอน
จากผลการศึกษาของสถาบัน INSEAD ในฝรั่งเศส ดัชนี Global Talent Competitiveness Index (GTCI) ในปี 2566 สามารถช่วยวัดศักยภาพของแรงงานและบุคลากรระดับสูงได้ในหลายด้าน เช่น ทักษะ การเรียนรู้ ทักษะวิชาชีพ และเทคนิค ความสามารถในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี การส่งเสริมความยั่งยืนและทันสมัยของความรู้และทักษะเหล่านั้น
สำหรับตารางที่ 3 แสดงผลการคำนวณดัชนี GTCT และรวมคะแนน พร้อมทั้งจัดอันดับของศักยภาพของแรงงาน/บุคลากรใน 134 ประเทศทั่วโลก พบว่าจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ ทรัพยากรมนุษย์ และมี 2 ช่องทางหลักที่จะช่วยแก้ไขจุดอ่อนนี้ ได้แก่ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (R&D)
การปฏิรูปการศึกษานั้น ไทยได้พยายามทำมาหลายทศวรรษแล้วแต่ก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานเดิม เช่น แบ่งแยกแผนกออกเป็นวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ตามรูปแบบของประเทศอังกฤษ ทั้งๆ ที่ควรกระจายความรู้ให้กว้างขึ้นตามรูปแบบของสหรัฐ
นักศึกษาที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในยุคปัจจุบัน ควรมีความเชี่ยวชาญในหลายสาขานอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เช่น STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) และดิจิทัลเทคโนโลยี นอกจากนั้นในช่วงปลายการศึกษาก็ควรเสริมด้วยการฝึกงาน (Training) กับบริษัทเอกชนด้วย เพื่อเพิ่มทักษะและสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งสองฝ่าย
การประสานงาน (Collaboration) นี้เป็นสิ่งที่ทางรัฐควรผลักดันและ/หรือจูงใจงาน R&D ให้ไปในทิศทางที่เหมาะสมด้วย เพื่อที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาและ/หรือสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของภาคเอกชนและสังคมในโลกปัจจุบัน
ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูประบบการศึกษา และสนับสนุน R&D ของไทยนี้ อาจฟังดูไม่น่าเชื่อถือหรือนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริงไม่ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนใน R&D/GDP ของไทยในปี 2565 (0.63%) กับของสิงคโปร์ (2.22%) ญี่ปุ่น (3.17%) เกาหลีใต้ (4.84%) และสหรัฐ (3.05%) แล้ว
จะเห็นได้ชัดว่า การปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษาและ R&D ของไทยตามข้อเสนอแนะข้างต้นเป็นสิ่งที่ทำได้จริง หากรัฐพยายามเชื่อมการศึกษาและ R&D ให้ใกล้ชิดกับบริษัทเอกชนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน และเน้นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนั้น ไทยยังสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการปฏิรูประบบการศึกษาและ R&D ด้วย
การยกระดับศักยภาพของแรงงานและบุคลากร จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ผลพลอยได้หนึ่งที่จะได้รับจากความพยายามที่กล่าวข้างต้น คือ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้.