‘สภาพัฒน์’ จับตา ‘Buy Now Pay Later’ ทำคนไทยเสี่ยงติด ‘กับดักหนี้’
"สถาพัฒน์" จับตาการใช้จ่ายแบบ Buy Now Pay Later ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หลังมูลค่าตลาดในประเทศไทยพุ่งสูงทะลุ 5 หมื่นล้าน เผยผลสำรวจเคยที่ใช้สินเชื่อประเภทนี้มากที่สุดคือ GenY และรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท หวั่นสร้างนิสัยการจับจ่ายที่ไม่ถูกต้อง ทำติดกับหนี้ในอนาคต
เทรนด์การใช้จ่ายในยุคปัจจุบันที่มีกลยุทธ์ใหม่ๆในการจูงใจให้คนใช้จ่ายมากขึ้นทั้งการซื้อขายสินค้า บริการผ่านช่องทางออนไลน์ และการเชื่อมโยงของฐานข้อมูล และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และทำให้ เกิดบริการผ่อนชำระที่เรียกว่า “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หรือ “Buy Now Pay Later” (BNPL) ซึ่งสินเชื่อลักษณะนี้ขยายตัวขึ้นมาก
ในการรายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 /2566 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานเรื่อง “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) : เทรนด์ในการเข้าถึงสินเชื่อยุคใหม่”โดยระบุว่า ปัจจุบันการขยายตัวของการให้บริการแบบ BNPL ถือเป็นบริการที่เข้ามาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อใช้เพียง บัตรประชาชนเท่านั้น
จากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายดังกล่าว ทำให้การใช้บริการ BNPL แพร่หลายอย่างมาก โดยใน ปี 2565 มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 2570 ในปี 2564 BNPL สามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทยจากรายงาน “Thailand Buy Now Pay Later Market Report 2022”คาดว่า มูลค่าตลาด BNPL ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 5.5 – 6.5 หมื่นล้านบาท
สศช. ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด จึงได้ ศึกษาและสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใช้ BNPLในกลุ่มประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15–55 ปี และพบว่า 23.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ที่เคยใช้บริการ BNPL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y และใช้จ่ายผ่าน ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
โดยผู้ใช้มากกว่า 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ใช้เกือบทั้งหมด ไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้บริการ และทัศนคติของผู้ใช้บริการ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของ BNPL ในหลายประการ คือ
1.มากกว่าครึ่งของเด็ก Gen Z ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ใช้บริการ BNPL และส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึง พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กรุ่นใหม่ที่อาจก่อหนี้เกินตัวในอนาคต
2.BNPL กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าและ บริการได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ BNPL ยังเป็นกลุ่มที่มีหนี้หลายประเภท โดยผู้ใช้ BNPL มากกว่า 3 ใน 5 ระบุว่า ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น หากมีบริการผ่อนชำระ โดยผู้ใช้บริการ BNPL เกือบครึ่งมีภาระหนี้อยู่แล้ว (ไม่รวมหนี้ BNPL) จึงอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้และเกิดหนี้เสียในระยะถัดไป
3. ผู้ใช้บริการ BNPL ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการจะซื้อของไม่จำเป็นมากขึ้นหากมีการผ่อนชำระรวมทั้งเห็นด้วยกับการใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับ ตนเองก่อนการตัดสินใจออมหรือลงทุน สะท้อนให้เห็นว่า บริการ BNPL อาจทำให้ผู้ใช้ขาดวินัยการออม และการลงทุน และ
4. ผู้ใช้บริการ BNPL ได้รับข้อมูลจากผู้ให้กู้ยืมยังไม่ครบถ้วน และต้องการการกำกับดูแลจากภาครัฐ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
หวั่นใช้ BNPL มากสร้างกับดักหนี้
ทั้งนี้เห็นได้ว่าแม้ BNPL จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่อาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม และการติดกับดักหนี้
ดังนั้นประเทศไทยต้องมีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมผู้ให้บริการ BNPL ทุกประเภทอย่างชัดเจน ดังเช่นในหลายประเทศ รวมถึงผู้ใช้บริการจำเป็นต้องมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการเป็นหนี้ และการใช้จ่ายเกินตัว