มรสุมเศรษฐกิจปี 67 GDP โลกหดตัว "หนี้ครัวเรือน -หนี้ธุรกิจ"ฉุดไทย
กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.8-3.3% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กังวลหนี้ครัวเรือนสูง หนี้ภาคธุรกิจ ฉุดจีดีพี ต่ำกว่า 3% ชี้ปรับค่าไฟขึ้น 4.68 บาทต่อหน่วย ดันต้นทุนธุรกิจขึ้น 17% ราคาสินค้าขึ้น 5-10% ขอตรึงค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วย พร้อมรีบตั้ง กรอ.พลังงาน
เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตน้อยกว่าที่คาด โดยในช่วง 9 เดือน แรกเติบโตเพียง 1.9% จากที่ประเมินทั้งปีจะเติบโต 2.4% เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีนที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาด ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน และสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวจากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจเอเชียไม่รวมจีน ได้แก่ อาเซียน (5 ประเทศ) เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยที่อัตรา 3.7%
นอกจากนี้ ตะวันออกกลางและอินเดีย มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูงที่ 3.4% และ 6.3% ตามลำดับ สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอาหาร
ทั้งนี้ กกร.คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.8-3.3% การส่งออกขยายตัว 2-3% และเงินเฟ้อ 1.7-2.2% แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพราะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความเปราะบางในประเทศ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs
รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เน้นวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง รวมถึงการกลับมาจัดชั้นคุณภาพหนี้ตามปกติหลังยุค โควิด-19
ศักยภาพการเติบโตลดลง
นอกจากนี้ มีความท้าทายจากศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี เพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อเผชิญกับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และการก้าวสู่ Low carbon society
สำหรับปัจจัยบวกในปี 2567 อยู่ที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566
ในขณะที่หากนโยบายเติมเงินใน Digital wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพีได้อีกอย่างน้อย 1.0-1.5%
ทั้งนี้ ปี 2567 มีหลายปัจจัยแปรผันที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ดึงดูดการลงทุนในยุค Decoupling การดูแลต้นทุนราคาพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้เกิดความสมดุล และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน รวมถึงดึงดูดแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูง
3ปัจจัยเซอร์ไพร์ซฉุดเศรษฐกิจปี66
รายงานข่าวจาก กกร.ระบุว่า ในที่ประชุมได้รายงานเศรษฐกิจปี 2566 ที่เติบโตน้อยกว่าคาด โดยเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกเติบโตเพียง 1.9% ซึ่งประเมินว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 2.4% น้อยกว่าประมาณการเดิมที่ 2.5-3.0% และผลจากการส่งออกที่ยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีนที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องและการชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง
รวมทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาด โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน
นอกจากนี้ กกร.ได้สรุป 3 ปัจจัยเซอร์ไพรซ์ที่ทำให้เศรษฐกิจปี 2566 ของไทยโตต่ำกว่าคาด ได้แก่
1.สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงด้านราคาพลังงานยังมีอยู่ โดยกรณีแย่ที่สุดหรือกรณี Direct War อาจทำให้ราคาน้ำมันขึ้นไปที่บาร์เรลละ 140-150 ดอลลาร์ และกระทบเศรษฐกิจโลก -1% รวมทั้งกระทบนักท่องเที่ยวมาไทยปีละ 0.1-2.0 ล้านคนต่อปี และกระทบการส่งออก 1-4%
2.เศรษฐกิจจีนไม่ฟื้น โดยดัชนี PMI ของจีนยังไม่ฟื้น นอกจากกระทบส่งออกไทยยังทำให้นำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2566-2567 ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ กระทบรายได้ปีละ 1-2 แสนล้านบาท และไทยไม่ติด Top5 สำหรับนักท่องเที่ยวจีน
3.ผู้ผลิตไทยไม่ผลิตเติมสินค้าคงคลัง โดยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 1.5% แม้ว่าการบริโภคของครัวเรือนขยายตัวถึง 8.1% เป็นเหตุจากการที่ผู้ผลิตไม่ผลิตเติมสินค้าคงคลัง สะท้อนการขาดความเชื่อมั่นต่อทั้งอุปสงค์ในประเทศและส่งออกระยะข้างหน้า รวมถึงต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น
หนี้นอกระบบฉุดศักยภาพเศรษฐกิจ
นายสนั่น กล่าวว่า ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าเติบโตได้น้อยกว่าที่คาด โดย 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง 1.9% ซึ่งการส่งออกชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีนที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง และชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง โดย กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เติบโตที่ 2.5-3% ขณะที่ส่งออกปีนี้ คาดว่าติดลบ 1-2% ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าอยู่ที่ 1.3-1.7% จากเดิมคาด 1.7-2.2%
ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งแก้ปัญหาความเปราะบางในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.68% ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 เป็น 2.79% ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 รวมทั้งหนี้นอกระบบเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ (Informal economy) ขนาดใหญ่
จากข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ วันที่ 5 ธ.ค.2566 มีประชาชนมาลงทะเบียน 62,030 ราย รวมมูลหนี้ 2,793 ล้านบาท เป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะจะได้เห็นข้อมูลพื้นฐานของหนี้นอกระบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายและให้การดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง
ร่วมมือรัฐแก้หนี้นอกระบบ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับการแก้หนี้นอกระบบทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท. ) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการแก้ปัญหาและมีการบังคับใช้กฎหมาย
“การดำเนินการถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากจะได้เห็นข้อมูลพื้นฐานของหนี้นอกระบบ ซึ่งกลไกถัดไปในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องผลักดันให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”นายผยง กล่าว
ส.อ.ท.ห่วงต้นทุนค่าไฟพุ่ง
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องของต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะจากการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จากเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย หรือ ปรับขึ้นมา 17% ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม โดย 10 อุตสาหกรรมจาก 46 อุตสาหกรรมทั้งหมดมีสัดส่วนการใช้พลังงานเป็นหลัก คิดเป็นต้นทุน 30-50% ของต้นทุน และ หากรัฐบาลยังคงยืนยันค่าไฟที่ 4.68 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น 5-10%
นอกจากนี้ยังบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เมื่อต้นทุนสูง ราคาสินค้าก็ต้องปรับขึ้น เมื่อส่งออกไปเราก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวโน้มจะเสนอให้ปรับขึ้นค่าไฟมาที่ 4.20 บาท แต่ก็ยังสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดี โดยเห็นว่าค่าไฟที่เหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วง 2.70-3.30 บาท
“ต้องการให้รัฐบาลยืนพื้นราคาเดิม 3.99 บาต่อต่อหน่วย ออกไปอีก 4 เดือน จากเดิมที่จะบังคับใช้ ม.ค.-เม.ย.2567 สิ่งที่รัฐบาลเสนอออกมา เช่น ยืดหนี้ออกไป หางบประมาณเพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า" นายเกรียงไกร กล่าว
รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลรีบจัดตั้งกรอ.พาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอ ปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้เป็นจุดแข็งของประเทศ ในการดึงดูดการลงทุนและแข่งขันกับประเทศอื่นได้เพราะหลายอุตสาหกรรมมองค่าไฟฟ้าเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน