'OECD' คาดเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.6% แนะมุ่งนโยบายสร้างการคลังแบบสมดุล
OECD คาดเศรษฐกิจไทยปี 67 โต 3.6% เตือนไทยลดมาตรการกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลัง มุ่งสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการคลัง มุ่งสู่นโยบายปกติ เหลือเฉพาะมาตรการที่มีความจำเป็น “ดนุชา” กางแผนเข้าเป็นสมาชิก OECD ชง ครม.ไฟเขียว หวังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น
วานนี้ (7 ธ.ค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดให้มีการประชุมหารือระดับสูงและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่าทั้งนี้สศช.อยู่ระหว่างการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสมาชิก OECD ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 38 ประเทศทั่วโลก โดยการเป็นสมาชิก OECD ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทยไปสู่ระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น รวมทั้งจะได้รับความสนใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากมาตรฐานของ OECD เป็นมาตรฐานที่นักลงทุนต่างชาติ และบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกมีความคุ้นเคยกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆที่เป็นรูปแบบเดียวกันในกลุ่มสมาชิก หากไทยสามารถเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD ได้ก็จะส่งผลดีต่อประเทศในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Country Programme กับ OECD มาเป็นระยะที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ซึ่งในการเข้ามาอยู่ใน Country Programme ได้มีข้อมูลในการประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
โดยผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 โดย OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% ถือว่าเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากแรงสนับสนุนสำคัญจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ตามพบว่ากำลังแรงงานในวัยหนุ่มสาวยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้ว่าภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ไม่ดี แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
OECD แนะไทยเพิ่มศักยภาพทางการคลัง
นายดนุชา กล่าวด้วยว่าผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจาก OECD ยังแนะนำว่าประเทศไทยควรดำเนินมาตรการทางการคลังที่เน้นไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังน้อยลง และใช้แนวทางการดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปรับสถานะทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังทั้งนี้เพื่อรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงต้องมุ่งเน้นต่อการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
รวมทั้งการทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือที่ดำเนินการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยเห็นว่าควรเหลือไว้เฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีความจำเป็น นอกจากนั้นในระยะต่อไปนั้นประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปในหลายประเด็นเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึงด้วย
“ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62% ต่อจีดีพีซึ่งถือว่ามีพื้นที่ทางการคลังลดลงมาก หากมีวิกฤติเกิดขึ้นเพดาน หนี้สาธารณะที่มีอยู่ก็จะไม่เพียงพออาจต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไปอีกซึ่งก็เป็นสิ่งที่ OECD ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน”
แนะไทยเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ในรายงานของ OECD ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการรับมือกับประเด็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวนโยบายจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นท่ามกลางการลดลงของ กำลังแรงงาน
รวมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ผ่านมาตรการที่สำคัญ อาทิ การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเข้าร่วมในตลาด การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการ และการขยายการเจรจาทางการค้าเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การค้าโลกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ต้องมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างต่อเนื่องกับการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนครัวเรือนเปราะบาง ขณะที่นโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม (Inclusive Growth) และลดความเหลื่อมล้ำยังคงมีความจำเป็น แม้ว่าการกระจายรายได้ของไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เนื่องจากแรงงานมากกว่า 50% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ และไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม
ขณะที่ในส่วนของการสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยทั้งการใช้มาตรการด้านการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีความเข้มข้น ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าโดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และการทยอยปรับลดการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐลง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ชง ครม.ไฟเขียวสมัครเข้าร่วมสมาชิก
นายดนุชากล่าวต่อว่าเร็วๆนี้จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบจะมีการนำเอาหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยไปยื่นให้กับเลขาธิการ OECD ตามขั้นตอน จากนั้นประเทศไทยจะร่วมกิจกรรมต่างๆตามข้อกำหนดของ OECD ซึ่งรวมทั้งการเข้าร่วมเวทีกับคณะกรรมการ (Committee) ระดับต่างๆประมาณ 20 คณะ และขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกของกลุ่ม OECD ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 7 ปี โดยในส่วนที่ไทยเราต้องเดินหน้าในการปรับปรุงด้านต่างๆในประเทศได้แก่เรื่องของการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และไม่ทันสมัย รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของภาครัฐให้มีความรวดเร็ว คล่องตัว และมีความโปร่งใสมากขึ้น
ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียมีสมาชิกของ OECD อยู่ 2 ประเทศคือญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่ในอาเซียนนั้นประเทศที่เข้าสู่ขั้นตอนการยื่นเจตจำนงในการสมัครสมาชิก OECD เช่นกัน ขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนที่เริ่มมีการเข้ามาในระยะที่ 1 ของการเป็นสมาชิก OECD ในขั้นแรกคือเวียดนามที่เข้ามาสมัครในระยะเริ่มต้นเข้ามาแล้ว