ส.อ.ท.ย้ำขึ้นค่าแรงต้องผ่าน ‘ไตรภาคี’ วอนอย่าเพิ่มความเสี่ยง ‘อุตสาหกรรม’
ส.อ.ท. ย้ำแนวทางปรับขึ้นค่าแรงต้องผ่านกลไกไตรภาคี สร้างสมดุลนายจ้าง-ลูกจ้าง ชี้ภาคอุตสาหกรรมปีหน้ายังเผชิญอีกหลายปัจจัยเสี่ยง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 จะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันยังมีปัจจัยของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบต่างๆ
“ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการประกาศทบทวนอัตราการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพูดคุยและปรึกษาเพื่อหาทางออกร่วมกันในคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นกลไกที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทาน เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง เกิดความสมดุลและมีความเหมาะสม”
ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 400 บาท จะเป็นการขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ยังใช้แรงงานเข้มข้นในกระบวนการผลิต อาทิ อาหารแปรรูป อาหารทะเล เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะมีการจ้างพนักงงานถึง 20,000 คน ขณะที่ขนาดกลางมีการจ้างงานประมาณ 5,000-8,000 คน และขนาดเล็กราว 100 กว่าคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าค่าแรงเป็นต้นทุนขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้อุตสาหกรรมมีความสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
"ต้นทุนทุกประเภทเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งหากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 400 บาท ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่แข่งขันไม่ได้ ธุรกิจก็ต้องเร่งการปรับไปใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงาน และอาจทำให้บางอุตสาหกรรมเกิดการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า"
ขณะที่รายงานจากผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (FTI Poll) พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน