“ธนาคารโลก” ชี้ ศก.ไทย ฟื้นตัวเปราะบาง แก้เชิงโครงสร้างโตไม่ทันภูมิภาค
ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงเป็นทั้งความหวังและความท้าทายโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจที่พบว่าปีหน้าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีให้เห็นบ้างแล้วแต่ก็ยังเป็นไปอย่างเปราะบางเต็มที
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยจากธนาคารโลก นำเสนอข้อมูล “แนวโน้มเศรษฐกิจไทย: แนวทางในการฟื้นตัว” ว่า จีดีพีไทยไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผ่านไปมีอัตราขยายตัวที่ 1.5% ต่ำกว่าที่คาดไว้ เป็นผลมาจากการส่งออกและนำเข้าที่ลดลง โดยมีเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแรงการขับเคลื่อนหลักๆให้จีดีพียังเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะพบว่าไทยเติบโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนในกลุ่มที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งเพื่อนบ้านไทยมีเส้นกราฟการเติบโตที่สูงชันขึ้นจากช่วงเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาดโควิด-19 เกิดเป็นช่วงว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเพื่อบ้น เฉลี่ยที่ 7-11% ของจีดีพี
สาเหตุหลักไม่ได้มาจากเศรษฐกิจโลกเพียงอย่างเดียวเพราะหลายประเทศในอาเซียนสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีซึ่งตรงข้ามกับไทย
ดังนั้นหากจะวิเคราะห์สาเหตุก็จะพบว่าไทยมีสัดส่วนการนำเข้าพลังงานสูงถึง 7% ต่อจีดีพีทำให้เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้นเศรษฐกิจไทยจึงมีภาระดังกล่าวสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเปราะบาง ขณะที่มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ประโยชน์จากราคาพลังงาน ส่วนเวียดนามได้ประโยชน์จากการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก และฟิลิปปินส์ ได้ประโยชน์จากการเติบโตด้านเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศ
“เศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะต่างจากภูมิภาค เมื่อปี2566 เศรษฐกิจโลกเปราะบางเศรษฐกิจไทยก็เปราะบางด้วย ดูได้จากการส่งออกที่ชะลอตัว จากมาตรการที่สหรัฐและจีนใช้ตอบโตกัน ขณะที่FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) แม้ไทยจะมีสต๊อกมูลค่าFDIที่สูงที่สุดในอาเซียนแต่พบว่าFDIไหลเข้าใหม่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาค”
แม้คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาบวกแต่ก็เป็นไปอย่างเปราะบางเพราะการส่งออกและนำเข้าที่เติบโตอย่างไม่เข้มแข็ง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนหากจะให้กลับมาอยู่ในระดับเดิมต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะกลางเท่านั้น
ด้านเงินเฟ้อ ช่วงกลางปีที่ผ่านมาไทยมีเงินเฟ้อสูงสุดในอาเซียนจากปัจจัยราคาพลังงานแต่ปัจจุบันนี้เงินเฟ้อไทยติดลบแล้ว 2 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทำให้หากมองไปข้างหน้าจะพบว่าเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านการคลัง แม้ว่าไทยจะมีพื้นฐานการคลังที่ยั่งยืนและมีช่องว่างที่จะสามารถบริหารจัดการด้านการลงทุนได้อีกมาก
เกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า การเลือกการใช้นโยบายการคลังที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ การพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยมีกรณีสมมติฐานดังนี้ หากไทยใช้นโยบายช่วยเหลือทุกคนแบบไม่แบ่งกลุ่มอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะระดับ 100% กรณีหากไทยไม่ทำอะไรเลยหนี้สาธารณะก็จะไม่สูงมากแต่เศรษฐกิจก็จะโตได้ในระดับเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งถือว่าแทบไม่เติบโตเลย และกรณีหากเลือกลงทุนภาคพลังงาน สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเพิ่มภาษี ก็จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ดี และมีหนี้สาธารณะเพียง 40% ต่อจีดีพีได้
“ไทยต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้แข่งขันได้ ด้วยการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์ ซึ่งจะช่วยดึงFDI โดยเฉพาะเซ็คเตอร์นวัตกรรม เข้ามาได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มศักยภาพด้านการค้าบริการ ซึ่งพบว่ามีอัตราเติบโตที่ดี หากดำเนินการตามเงื่อนไขนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพและไม่ทิ้งห่างจากภูมิภาคมากจนเกินไป”
ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แต่ไม่ต่างจากปีนี้เพราะปัจจัยท้าทายต่างๆยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดเเย้งภูมิรัฐศาสตร์ อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาพลังงานที่คาดว่าจะสูง เงินเฟ้อ
ประเทศไทยมีการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศจะอยู่ในภาวะทรงตัว แม้การส่งออกยังมีภาวะการตึงตัวเล็กน้อย ภาวะเงินเฟ้อลดลงจากราคาพลังงาน แต่ราคาอาหารจะสูงขึ้นแต่ภาพรวมก็เติบโตได้ 3.2% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.5%
น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความท้าทายเชิงโครงสร้างเป็นจุดอ่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแผนที่จะทำงานทั้งในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการส่งมอบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องรองรับสังคมสูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการสาธารณสุข และการปฎิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าและดึงดูFDI ด้วย
เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่บนทางแยกระหว่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือ จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนคือเพื่อประโยชน์ประเทศชาติคือคำตอบของคำถามว่าอะไรคือความเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจไทย