'ไทยออยล์' ผนึก วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี-จุฬาฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์อนาคต
"ไทยออยล์" ร่วมลงนามสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค
นายบัณฑิต ธรรมประจําจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีฯ ณ ห้องประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ
นายบัณฑิต เปิดเผยว่า สัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาที่ร่วมลงนามกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ถือเป็นฉบับที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการวิจัยและพัฒนาสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการสร้างรากฐานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาคการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อทิศทางธุรกิจ และพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งผลลัพธ์ของความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการและการแข่งขันทางธุรกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังได้ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค (Disinfectant) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกลยุทธ์ด้าน Value Diversification เพื่อสร้างเป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ ในการมุ่งสู่วิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นนํ้ามันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ไทยออยล์มีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันมีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่ทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด และธุรกิจ New S-Curve