'คมนาคม' เตรียมชง ครม.ปี 67 ปรับฟังก์ชัน 'รถไฟฟ้าสายสีแดง' รับเมืองเกิดใหม่

'คมนาคม' เตรียมชง ครม.ปี 67 ปรับฟังก์ชัน 'รถไฟฟ้าสายสีแดง' รับเมืองเกิดใหม่

“สุรพงษ์” ดึง 3 โครงการค้างท่อทบทวนใหม่ สั่งการรถไฟฯ รื้อแนวเส้นทาง “รถไฟฟ้าสายสีแดง” ขยายออกชานเมือง รองรับชุมชนเกิดใหม่ หวังเป็นโครงข่ายหลักขนผู้โดยสารจากปริมณฑลสู่ใจกลางเมือง มั่นใจไตรมาส 1 ปีหน้า กลับเข้ากระบวนการเสนอ ครม.พิจารณา

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) โดยระบุว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ มีนโยบายเร่งรัดดำเนินโครงการดังกล่าว แต่เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปพิจารณาปรับขยายระยะทางให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจากนอกเมืองเข้าสู่เมืองชั้นในได้มากขึ้น

โดยโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงปัจจุบันมี 3 เส้นทาง ซึ่งการศึกษาขยายแนวเส้นทางในขณะนี้ อาทิ ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ให้ศึกษาพิจารณาขยายไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกับช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ให้ศึกษาขยายเส้นทางไปถึงจังหวัดนครปฐม เป็นต้น โดยคาดว่าทาง ร.ฟ.ท. จะศึกษารายละเอียดแล้วเสร็จ เสนอกลับมายังกระทรวงคมนาคมหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนหลังจากนั้น จะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

ในส่วนของสาเหตุที่กระทรวงฯ มีนโยบายให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาขยายระยะทางให้ไกลจากแผนเดิมนั้น เนื่องจากมองว่าในปัจจุบันประชาชนส่วนมากได้ออกไปอยู่อาศัยนอกเมือง ประกอบกับเพื่อรองรับการขยายเติบโตของเมือง กระทรวงฯ ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จึงต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับ และการขยายเส้นทางนี้จะช่วยลดปริมาณประชากรในเขตเมือง หากมีระบบขนส่งโดยสารสาธารณะที่สมบูรณ์

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า การศึกษาขยายระยะทางของรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น ยอมรับว่าแนวเส้นทางที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อวงเงินการลงทุนและงบประมาณที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี คงต้องรอให้ ร.ฟ.ท. ไปพิจารณาดูให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งการขยายระยะทางก่อสร้างของเส้นทาง จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถวางแผนในการสร้างชุมชนใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และจะช่วยให้ลดการอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง ลดความแออัดในเมืองชั้นใน แต่สะดวกสบายในการเดินทาง หากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี

 

สำหรับแผนพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางดังกล่าว เดิมมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท โดยมี 2 โครงการที่เป็นโครงการค้างท่อจากรัฐบาลก่อนหน้า และมีสถานะโครงการที่พร้อมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาเพื่อเปิดประกวดราคาได้ทันที ประกอบด้วย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท

ขณะที่ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท สถานะโครงการอยู่ระหว่างรอการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อย่างไรก็ตามเมื่อมีนโยบายให้พิจารณาปรับขยายระยะทาง ส่งผลให้โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองทั้ง 3 เส้นทาง ต้องกลับมาสู่สถานะ ร.ฟ.ท.ศึกษารายละเอียดใหม่ รวมทั้งประเมินวงเงินการลงทุนที่ต้องปรับเพิ่มมากขึ้น