'สภาพัฒน์‘ มองเศรษฐกิจปี 67 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีน - ปมร้อน 'ภูมิรัฐศาสตร์'

'สภาพัฒน์‘ มองเศรษฐกิจปี 67  ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีน - ปมร้อน 'ภูมิรัฐศาสตร์'

“สศช.” เตือนเศรษฐกิจโลก ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปี 67 หลังเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้น ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่ม แนะไทยเร่งทำตลาดใหม่ ดึงท่องเที่ยว – การค้า มองเศรษฐกิจในประเทศยังไปได้ ขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐฟื้นตัว – การบริโภคยังโตต่อเนื่อง   

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่า สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.7 – 3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ทั้งนี้เศรษฐกิจในประเทศจะยังขยายตัวได้จากปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐที่กลับมาขยายตัวหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 และปี 2568 มีผลบังคับใช้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคในประเทศก็จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2566 ขณะที่การใช้จ่ายและท่องเที่ยวของประชาชนที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลดีต่อภาคบริการ เพราะมีการเดินทาง และท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น

\'สภาพัฒน์‘ มองเศรษฐกิจปี 67  ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีน - ปมร้อน \'ภูมิรัฐศาสตร์\'

อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 ปัญหาเศรษฐกิจที่น่ากังวลจะมาจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ  เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และยังมีความตึงเครียดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ โดย สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2566 ส่วนปริมาณการค้าโลกในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว3.2% ฟื้นตัวจาก 2.1% ในปี 2566

เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัว

ทั้งนี้ขณะนี้มีสัญญาณที่เศรษฐกิจโลกในปี 2567จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน โดยแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมายังชะลอตัวมากกว่าที่คาด จากปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวลงของการอุปโภคบริโภค ภายในประเทศจนมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจีนนั้นมีมาตรการที่จะออกมาอย่างไร หรือจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มอีกหรือไม่ ทั้งนี้ สศช.คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.3% ในปี 2567 ชะลอลงจากที่จะขยายตัวได้ประมาณ 4.9% ในปี 2566

“ตอนนี้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้จากทางจีนค่อนข้างที่จะเข้าถึงยากขึ้น เช่นข้อมูลการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็ไม่มีการรายงานออกมา ตอนนี้ข้อมูลที่ออกมาก็ยังเป็นข้อมูลในภาพใหญ่ๆซึ่งก็ต้องติดตามตัวเลขต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็ต้องดูมาตรการเขาด้วยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนออกมา และกำลังจะออกมาก็มีมาตรการอีกมาก ซึ่งในเรื่องนี้ สศช.ก็มีการติดตามอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบกับเศรษฐกิจในระยะถัดไปด้วย” นายดนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนนั้นยังเป็นที่พึ่งที่หวัง และสินค้าส่งออกของไทยไปยังจีนก็ยังสามารถที่จะทำตลาดได้ค่อนข้างมาก ซึ่งตลาดของจีนนั้นมีกำลังซื้อที่สูงจากจำนวนประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งแม้ว่าในภาพใหญ่เศรษฐกิจจีนไม่ดีแต่คนที่มีกำลังซื้อก็ยังมีอยู่มาก ซึ่งก็ทำให้การส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปยังจีนยังน่าสนใจ

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์บั่นทอนเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัญหาของภูมิรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ยังต้องจับตามองแม้ว่าการรบในอิสราเอลในขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่จะรุนแรงเป็นสงครามในระดับภูมิภาค ซึ่งหากสงครามไม่ขยายวงก็จะกระทบกับราคาน้ำมันไม่มากนัก อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะมีภาวะสงครามในบ้างพื้นที่ รวมทั้งมีการลดกำลังการผลิตจากประเทศในกลุ่มสมาชิกโอเปกก็ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกในปีหน้าที่อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด

“หากดูทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนี้มีการปรับตัวลดลงมาจากระดับ 80 – 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลาที่ไม่นานนัก เช่นเดียวกันกับระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่อยู่ในช่วงฤดูหนาวของยุโรป ซึ่งสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าไม่สดใสนัก”

นายดนุชา กล่าวต่อว่าสำหรับภาคการส่งออกในปี 2567 สศช.คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.8% เมื่อเทียบกับปี 2566 นอกจากนั้นต้องรักษาโมเมนตั้มเศรษฐกิจในเรื่องของการส่งออก ซึ่งในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมานี้ตัวเลขส่งออกดีขึ้น แต่ในส่วนนี้ต้องติดตามต่อเนื่องเพื่อให้เห็นชัดว่าโมเมนตัมการส่งออกนั้นฟื้นตัวได้จริง ซึ่งหากภาคการส่งออกดีขึ้นก็จะส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นทันที เพราะหากดูตัวเลขของการผลิตที่ติดลบในไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากการส่งออกของเราหดตัวลง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้นนอกจากการพยายามดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นก็ต้องพยายามเพิ่มการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยนั้นใช้จ่ายยังไม่มากเท่าที่ควร ตรงนี้ต้องมีการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว นโยบายของประเทศไทยที่ควรทำต่อเนื่องคือการเร่งขยายตลาดการค้ากับต่างประเทศ และมีการขยายตลาดเพิ่มมูลค่าการค้ากับต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้มีตลาดที่รองรับการส่งออก

หรือการที่จะดึงการท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยควรเร่งรัดเจรจาการค้า การลงทุน และทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆมากขึ้น