คลังเตรียมมาตรการระยะสั้นหวังกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงรองบ67ผ่านสภาฯ
คลังเผยเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อประคองเศรษฐกิจ ช่วงรอ งบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้ ประเมินทิศทางดอกเบี้ยตลาดโลกปีนี้ปรับลดลง หนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยฟื้น ด้านกรมบัญชีกลางออกหนังสือเร่งส่วนราชการเบิกจ่าย-ลดขั้นตอนจัดซื้อ รับงบประมาณล่าช้า
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อประคองเศรษฐกิจ ในช่วงที่กฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึง ให้หน่วยราชการที่มีงบลงทุน จะต้องเตรียมการลงทุนตั้งแต่ การยกร่าง TOR การประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมประมูลโครงการรัฐ เพื่อให้เมื่อกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ การลงนามในสัญญาโครงการจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
“ไม่ใช่ว่างบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่เราต้องหามาตรการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้”
เขากล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตและยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ ที่ครม.มีมติไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศของการที่ประเทศไทย เป็นฮับของการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ซึ่งผลที่กลับมาคือทำให้กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นตามไปด้วย
เขาเชื่อว่า ในปีนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของโลกน่าจะปรับลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้จะเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากเป้ารายได้ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ขณะที่การจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ในปีนี้ส่วนหนึ่งจะมี Time lack จากปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งสศค.คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2566จะขยายตัวเพียง 2.7 %
ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 ที่สิ้นสุดไปเมื่อ30 ก.ย.ปีที่แล้วนั้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.74 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 7 % ทั้งนี้ กรมสรรพากร ถือเป็นกรมฯที่สามารถจัดเก็บรายได้ให้รัฐบาลสูงสุดโดย จัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณที่แล้วถึง 2.21 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.82 แสนล้านบาท
สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภานั้น ได้กำหนดรายจ่ายไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.3 % ส่วนรายได้ของรัฐบาล ตั้งเป้าหมายไว้ที่2.78 ล้านล้านบาท ทำให้งบประมาณปี 2567 ยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 6.93 แสนล้านบาทหรือขาดดุล 3.6 % ของจีดีพี
นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ในส่วนของกรมบัญชีกลางได้เตรียมพร้อมสำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณหรืองบลงทุนของส่วนราชการเพื่อรองรับการบังคับใช้พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ โดยระหว่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณดังกล่าว กรมฯได้แจ้งให้ส่วนราชการเตรียมขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการภายใน เช่น การกำหนดรายละเอียดการจัดซื้อ การจัดทำเงื่อนไขการจัดซื้อหรือ TOR เมื่อคณะกรรมาธิการผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 แล้ว หน่วยงานราชการจะทราบว่า ได้รับวงเงินงบประมาณจำนวนเท่าใด ซึ่งจะสามารถเริ่มดำเนินการขั้นตอนการจัดซื้อได้ทันที
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมากรมฯได้ซักซ้อมความเข้าใจกับส่วนราชการเกี่ยวกับการผ่อนปรนระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องต่าง อาทิการเพิ่มวงเงินการเผยแพร่เอกสารวงเงินลงทุน ซึ่งเดิมกำหนดว่า วงเงินลงทุนตั้งแต่ 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานที่จะเปิดรับฟังความเห็นก่อนเผยแพร่เอกสารหรือไม่ก็ได้ โดยได้ปรับเปลี่ยนเป็นวงเงินลงทุนตั้งแต่ 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานที่จะเปิดรับฟังความเห็นก่อนเผยแพร่เอกสารหรือไม่ก็ได้นอกจากนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น เดิมกำหนดว่า วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องเปิดรับฟังความเห็นใน 3 วันทำการ ซึ่งตรงนี้ เราก็เพิ่มวงเงินให้เป็น 10 ล้านบาท เพื่อให้วงเงินจัดซื้อที่ต้องรับฟังความคิดเห็นนั้น มีจำนวนใหญ่ขึ้น
สำหรับการเผยแพร่ประกาศเอกสารจัดซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนลงทุนนั้น จะลดระยะเวลาให้สั้นลง โดยเดิมวงเงิน 5 แสน ไม่เกิน 5 ล้านบาท ใช้เวลา 5 วัน , วงเงิน 5 ล้านบาท ไม่เกิน 10 ล้านบาท ใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน , วงเงิน 10 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท ใช้เวลาไม่เกิน 12 วัน และ 50 ล้านบาทขึ้นไป ใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน ปรับเปลี่ยนใหม่เป็นเกิน 5 แสนบาท ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ลดเวลาเหลือไม่น้อยกว่า 3 วันทำการเท่านั้น
“เดิมถ้าวงเงินจำนวนมากนั้น เราจะใช้เวลาประกาศเชิญชวนหลายวัน แต่เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เราก็จะลดเวลาทำการลง”