ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์ชี้ "ไทย”เบอร์3อาเซียน“แบรนด์ชาติ”แกร่ง
ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์โลก หรือ The Global Soft Power Index จัดทำโดย Brand Finance ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินค่าด้าน“แบรนด์” จากการสำรวจความเห็นคนทั่วไป 100,000 ราย ด้วยวิธีการสัมภาษณ์จากประเทศต่างๆกว่า 100 ชาติ ต่อการรับรู้ของภาพลักษ์ของชาติต่างๆ (nation brands)
ซึ่งความเข้มแข็งของซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละชาติจะนำไปสู่ความสามารถการดึงดูดด้านการลงทุน การพัฒนาตลาดเพื่อสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับอันดับความเข้มแข็งซอฟต์พาวเวอร์แต่ละประเทศนั้น ประเมิน 2 ปัจจัยหลักได้แก่ ความคุ้นเคยถึงชาตินั้นๆ ชื่อเสียงที่เป็นเสน่ห์ของชาตินั้นๆ ทั้งนี้ หากจัดอันดับเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซีียนพบว่าสิงคโปร์มีสัดส่วนคะแนนสูงสุด ที่51 คะแนน ตามมาด้วยมาเลเซีย ที่ 42.6 คะแนน และไทย 42.4 คะแนน
“อับดันและคะแนนจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างขึ้นกับภาพลักษณ์และประสิทธิภาพของแต่ลประเทศ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการให้ข้อมูล การใช้นัยเชิงนโยบาย การสร้างความเข้มแข็ง หรือ ปรับ country's brand ในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ"
รายงานข่าวแจ้งว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ประเด็นการหารือคาดว่าจะสอดคล้องกับผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่มีแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าความสำเร็จตามแผนงานครั้งแรกของปี 2567 โดยมี 3 ประเด็นหารือสำคัญ ทั้ง การแก้ไขกฎหมายพิจารณาในประเด็นภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักร การจัดตั้ง One Stop Service ของสาขาภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ และความก้าวหน้าของ พ.ร.บ. THACCA(Thailand Creative Content Agency)
ประเด็นแรก ในเรื่องของการแก้ไขกระบวนการพิจารณาจัดเรตติ้งภาพยนตร์เพื่อให้สอดคล้องกับการให้การสนับสนุนเสรีภาพในการออกแสดงของสื่อและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการจัดเรตติ้งของภาพยนตร์ยังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนมายาวนานในประเด็นด้านความไม่สมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ต่างๆ
"จึงได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบและเพิ่มคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาทิ จากเดิมคณะกรรมการละ 7 คน ประกอบด้วย ภาคราชการไม่เกิน 4 คน และภาคเอกชนไม่เกิน 3 คน เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการละ 5 คน ประกอบด้วยภาคราชการ 2 คน และภาคเอกซน 3 คน อีกทั้งได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ จากเดิมจำนวน 6 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ 5 คณะ และคณะกรรมการพิจารณาวีดิทัศน์ 1 คณะ เพิ่มเป็นจำนวนรวม 10 คณะ"
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนต์ฯ โครงสร้างใหม่จำนวน 10 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ 8 คณะและคณะกรรมการพิจารณาวีดิทัศน์ 2 คณะ เพื่อให้การพิจารณาเรตติ้งจะได้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่แท้จริงมากขึ้นและการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อลดความเข้มงวดของประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยให้เหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ หากภาพยนตร์มีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรอรับฟังความเห็นจากภาคของประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีสภาการภาพยนตร์ไทยภายใต้ THACCA ที่มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เปลี่ยนบทบาทจากการที่ภาครัฐเป็นผู้ควบคุมเป็นการสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินมากขึ้น
ประเด็นถัดมา คือ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งจัดตั้ง One Stop Service (OSS) เพื่ออำนวยความสะดวก
ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แบบครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการติดต่อและรับบริการภาครัฐลดระยะเวลาลง ลดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็วขึ้น โดยริเริ่มในอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ สาขาภาพยนตร์และสาขาดนตรี
ประการสุดท้าย ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. THACCA อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรับฟังความเห็นต่อไป คาดว่าจะนำเสนอเพื่อให้ทางสภาฯ พิจารณาในช่วงประมาณกลางปีนี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวถึงคำของบประมาณจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า คำขอดังกล่าวสามารถแยกได้เป็นงบประมาณของปี 2567 ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณางบประมาณในรัฐสภาเกือบ 1 พันล้านบาท และอีกประมาณ 2.5 พันล้านบาท ที่มีความเร่งด่วนจะขอรับการจัดสรรจากงบกลาง และที่เหลืออีกกว่า 2 พันล้านบาท จะยกไปเป็นคำของบประมาณบางส่วนของปีถัดไป ปี 2568
ความหมายของ“ซอฟต์พาวเวอร์”ยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปได้แต่การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้จะส่งให้“แบรนด์แห่งชาติ”ของไทยมีความเข้มแข็งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศต่อไป