‘เศรษฐกิจไทย’ วิกฤติหรือไม่? อยู่ที่ว่ามองจากมุมไหน
เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยถดถอยลงต่อเนื่อง จากเดิมที่เราเคยวิ่งเร็วหรือโตได้เฉลี่ยปีละ 8-10% ปัจจุบันการเติบโตในระดับ 3% ก็ถือว่าเหนื่อยมากแล้ว
ยังคงเป็นประเด็นให้ถกเถียงอย่างต่อเนื่องกับมุมมองว่า “เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่?” เพราะจะมีผลต่อพลังการขับเคลื่อนโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันออกมา เนื่องจากโครงการนี้ออกในรูปของ “พ.ร.บ.กู้เงิน” เพื่อนำไปใช้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งในทางกฎหมายแล้วรัฐบาลจะกู้ได้ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ใน “ภาวะวิกฤติ” เท่านั้น! ...ที่ผ่านมาเราจึงเห็นความพยายามของรัฐบาลในการชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
ส่วนเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจริงหรือไม่นั้น อันนี้ขึ้นอยู่กับว่ามองในมุมไหน ถ้าวัดจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ในระดับ 2% เศษๆ และจีดีพีก็ไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย แบบนี้อาจมองว่าเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติก็ได้ แต่ถ้ามองกันยาวๆ ในช่วง 10-20 ปีย้อนหลัง ซึ่งเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนหดตัว คนในประเทศแก่ชราลงเรื่อยๆ ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง แถมความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงของรายได้และการศึกษา ระหว่างคนจนกับคนรวยก็ถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแบบนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าตกอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่
เมื่อวานนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ DEEP TALK ของ “กรุงเทพธุรกิจ” ซึ่งให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจมากๆ ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ ซึ่งเรากำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายๆ ด้าน โดยจะเห็นว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยถดถอยลงต่อเนื่อง จากเดิมที่เราเคยวิ่งเร็วหรือโตได้เฉลี่ยปีละ 8-10% ปัจจุบันการเติบโตในระดับ 3% ก็ถือว่าเหนื่อยมากแล้ว ดร.พิพัฒน์ ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า เรากำลังอยู่ในภาวะ “ต้มกบ” โดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่
คำถาม คือ แล้วเราต้องทำอย่างไรเพื่อจะยกศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้กลับไปอยู่ในจุดเดิม ซึ่ง ดร.พิพัฒน์ ได้ยกตัวอย่างญี่ปุ่นในสมัยของนายกฯ “ชินโซ อาเบะ” ที่ออกนโยบาย “ธนู 3 ดอก” ที่ใช้ทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดหล่มนับสิบๆ ปีให้กลับมาขยายตัวได้มากขึ้น โดย ดร.พิพัฒน์ ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมา เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ต่างจากญี่ปุ่นในช่วงนั้นเลย
น่าสนใจว่า แล้วปัจจุบันไทยใช้ธนูไปแล้วกี่ดอก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะมีเพียงเรื่องนโยบายการคลังเท่านั้น เพราะหันมาดูในฝั่งของนโยบายการเงิน ดูเหมือนจะเก็บธนูเข้าซองไปเรียบร้อย แต่ธนูดอกที่สำคัญสุดของไทยคงอยู่ที่ “การปฏิรูป” ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเชิงโครงสร้างที่นับวันจะกัดกร่อนกินพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจมลงต่อเนื่อง
...ได้ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะเผชิญวิกฤติ แต่ “ธนูดอกที่สอง” คือ นโยบายการคลัง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน คงไม่จำเป็นเท่ากับธนูดอกแรกและดอกที่สาม ดังนั้นถ้าให้สรุปก็คือ แม้เศรษฐกิจไทยจะเข้าข่ายวิกฤติ แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่าการเอาเงินกู้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการรื้อโครงสร้างใหม่ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการแจกเงินที่ดูจะเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น!