'ส.อ.ท.-หอการค้า' ออกโรงจี้แบงก์ลดดอกเบี้ย ลดต้นทุนการเงินธุรกิจ-ประชาชน
'ส.อ.ท.-หอการค้า' ห่วงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชน ยื่นข้อเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย เพื่อลดต้นทุนการเงินให้ผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชน
Key Points
- ดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและมาอยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยขึ้นตามและมีผลต่อต้นทุนธุรกิจ
- ส.อ.ท.มีความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชนเพิ่มมากขึ้น
- การปรับดอกเบี้ยควรพิจารณาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น
- หอการค้าไทยต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐที่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดการเงินและประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างรวดเร็วและแรง จากระดับ 0.5% พุ่งขึ้นไปถึง 5.5% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ 2% ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐส่งผลให้ประเทศอื่นๆ มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเพื่อรักษาสมดุลการเงิน
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในไทยไม่ได้มีสาเหตุจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจและเงินในระบบที่มากเกินไป (Demand Pull) แต่มาจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น (Cost Push)
ทั้งนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่ยิ่งอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการในประเทศ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่เตรียมทยอยปรับขึ้นอีกในปีนี้ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าไฟฟ้างวดใหม่
“แม้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังไม่เป็นไปตามเป้าแต่เฟดก็เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วว่าในปีนี้จะสิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง 3 ครั้ง โดยไม่ได้ระบุว่าเมื่อใด ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้ ธปท.น่าจะมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน”
ทั้งนี้ในปี 2567 ไทยต้องจับตาความเสี่ยงของหลายบริษัทที่จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และต้องขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีก 1-2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด เนื่องจากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าออกไป 7-8 เดือน มีผลต่อสภาพคล่องและกระแสเงินสดของบริษัท
“ล่าสุดบลูมเบิร์กได้ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้จาก GDP 3.1% เหลือ 2.7% เนื่องจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่ดี รวมทั้งภาคการส่งออกที่คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นไม่มาก และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ”
กกร.หารือลดดอกเบี้ยลดต้นทุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้มีการพูดถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมุมมองวิชาการถือเป็นความพยายามของ ธปท.ในการสกัดเงินเฟ้อที่สูง ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากช่วงปีที่แล้ว
รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐไม่ให้ห่างกันจนเกินไป ซึ่งต้องยอมรับว่ากระทบโดยตรงกับต้นทุนกู้ยืมของผู้ประกอบการและประชาชน
"หอการค้าไทยเห็นว่าหากธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยลดภาระประชาชนลดต้นทุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก"
รวมทั้งจะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 10 ม.ค.2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงจะหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกัน
หวัง ธปท.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก
ทั้งนี้ หลายฝ่ายยังคงติดตามสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงใด และหวังว่า ธปท.จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่วนกรณีที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากนี้ ธปท.คงจะลดดอกเบี้ยให้เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน น่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิค
นอกจากนี้ ตามนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานของภาครัฐทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีการปรับขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงพอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง โดยเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.23%
ขณะที่นโยบายการคลังที่รัฐบาลกำลังดำเนินการทั้ง การยกเว้นวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว, โครงการ Easy E-Receipt, รวมถึงการผลักดันโครงการ Digital Wallet จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2.0 - 2.5% ภายใต้กรอบเป้าหมายของกระทรวงการคลัง และ ธปท.ที่ 1-3%
แนะรัฐบาลเร่งเบิกจ่างงบประมาณปี 67
ขณะที่การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาวาระ 1 แล้ว ภาคเอกชนเห็นว่ามีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมาก ส่วนในระหว่างการรองบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.2567 หอการค้าไทยต้องการให้รัฐบาลหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน
ตลอดจนเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง โดยหากงบประมาณประจำปี 2567 ประกาศใช้เป็นทางการ รัฐบาลอาจมีเวลาเพียง 5 เดือนเศษในการใช้จ่ายงบประมาณ จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีแผนเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่แต่ละพื้นที่และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมาะสม
รวมทั้งช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ได้เห็นถึงบรรยากาศความคึกคักของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะอีเวนท์ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาพรวมตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ใกล้เคียง 28 ล้านคน
ประกอบกับการยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-จีน จะเป็นโมเมนตั้มสำคัญต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีนี้ ที่เป็นฤดูท่องเที่ยวของไทย ทำให้การท่องเที่ยวและบริการยังคงเติบโตโดดเด่นต่อเนื่อง
ขณะที่นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy E-Receipt จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 4 – 6 หมื่นล้านบาท และหากโครงการ Digital Wallet สามารถดำเนินการได้จริงตามแผน คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 1.0 - 1.5%
โดยหอการค้าหวังว่าเศรษฐกิจไทยใน Q1/67 จะเติบโตได้อย่างน้อย 3 % เมื่อเทียบกับ Q1/66 ที่อยู่ในระดับ 2.7% ส่วน Q2/67 เป็นช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยและกิจกรรมสงกรานต์ที่พึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมด้วยหอการค้าฯ จะมีการยกระดับ Event สงกรานต์ให้เป็น Festival ระดับโลก รวมถึงกิจกรรมด้านการส่งเสริม Soft power ไทยตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ไปสู่เป้าหมาย 35 ล้านคนต่อไป