กนอ. เล็งปรับภาพลักษณ์ "นิคมอุตสาหกรรม" เป็นเป้าหมายลงทุนในเวทีโลก
บอร์ด กนอ. เล็งปรับภาพลักษณ์รื้อบทบาท กนอ. เป็นผู้ส่งเสริมลงทุน ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน GDP ลงทุน เป็น 27% หรือ 3.05 ล้านล้านบาท ภายในปี 69
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการ กนอ. ชุดใหม่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะพลิกฟื้นการลงทุน เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่มี เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ โดยจากการสำรวจพบว่า เม็ดเงินลงทุนที่เข้าประเทศเกือบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 20 ปี
ดังนั้น บอร์ดจึงได้มอบนโยบายให้ กนอ. ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และรองรับการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในประเทศ
ทั้งนี้ กนอ. จึงต้องปรับบทบาทให้มีหน้าที่ในเชิงรุก โดยแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้ “WISH” ประกอบด้วย การฟื้นการลงทุน หนุนผู้ประกอบการ และสร้างความยั่งยืน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation)
“ถ้าต้องการจะให้ประเทศไทยเติบโตตามศักยภาพ เม็ดเงินการลงทุนเมื่อเทียบกับสัดส่วน GDP ต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4% นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มจาก 23% เป็น 27% หรือไม่น้อยกว่า 3.05 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569"
นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ เป็นจุดมุ่งหมายของการลงทุนของโลก รวมทั้งบทบาทของ กนอ. ในการเป็น “Investment Enhancer” ผู้ส่งเสริมการลงทุน และต้องการเห็น กนอ. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ และต้องไม่เป็นเพียงแค่นิคมอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ประกอบความมั่งคั่งสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนต่อไป
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. พร้อมรับนโยบายและผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมของไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนของภูมิภาคและของโลก รวมทั้งการสร้างความจดจำว่านิคมอุตสาหกรรมต้องเป็นแบรนด์ที่ดีของประเทศไทยด้านการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “Land of Infinite Prosperity and Opportunities : ดินแดนแห่งความรุ่งเรือง ความมั่งคั่ง และโอกาสที่ไร้ขีดจำกัด” จะสร้างแบรนด์ กนอ. ให้ดี เข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับ เพื่อให้พร้อมรับการลงทุนใหม่ๆ ทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัดต่อไปในอนาคต