‘ไทย’ เร่งอุด 3 จุดเสี่ยง บีโอไอดันปีทองการลงทุน
บีโอไอย้ำไทยต้องเร่งแก้ 3 ความเสี่ยง ทักษะแรงงาน กฎระเบียบ ตลาดส่งออกจำกัด ชี้ปี 67-68 จะเป็นปีทองไทยคว้าโอกาสดึงลงทุนอุตฯ เป้าหมาย
ความขัดแย้งและการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ยังคงเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ ทำให้ในปี 2567 จะยังเห็นโมเมนตัมการย้ายฐานการผลิตมุ่งหน้าสู่ประเทศที่ไม่อยู่ในวงขัดแย้ง รวมทั้งมีปัจจัยต่างๆ พร้อมรองรับการลงทุน
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2567-2568 จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะยังคงมีโมเมนตัมการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพสูง จึงเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค ด้วยปัจจัยสนับสนุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูง ซัพพลายเชนที่ครบวงจรและแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค บุคลากรที่มีคุณภาพ พลังงานสะอาด สิทธิประโยชน์จูงใจจากบีโอไอทั้งมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี
ในปี 2567 ถือเป็นโอกาสทองอีกครั้งหนึ่งของไทยที่จะช่วงชิงการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เซมิคอนดัคเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ขนาดใหญ่ รวมทั้งกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ ด้วยการนำของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุน และนำทีมโรดโชว์ไปเชิญชวนบริษัทเป้าหมายด้วยตัวเอง เป็นการทำงานเชิงรุกมิติใหม่ที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นมากขึ้นในเวทีโลก ทั้งช่วยเพิ่มความหนักแน่นและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอย่างมาก
การดำเนินกลยุทธ์ดึงการลงทุนเชิงรุกของไทยที่ผ่านมา นำโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของไทยในการเข้าหารือและพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทโดยตรงได้รับฟังข้อมูลความพร้อมของประเทศไทยและมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้ได้ผลตอบรับที่ดีและมีโอกาสปิดดีลได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามความท้าทาย 3 ด้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคด้านการลงทุน โดยบีโอไอจะทยอยออกมาตรการใหม่ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ประกอบด้วย
1.ข้อจำกัดด้านปริมาณแรงงาน จากการลดลงของจำนวนประชากรที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จากาภาวะสังคมสูงวัย รวมถึงการยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะขั้นสูง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยบีโอไอจึงเห็นความจำเป็นในการดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะสูงให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย ผ่านมาตรการ Long-term Resident Visa (LTR Visa)
2.ความสะดวกในการลงทุนและประกอบธุรกิจ (Ease of Investment and Doing Business) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน ทั้งการปรับปรุงระบบกฎหมายและการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้ทันสมัย และเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้บีโอไอเป็นหนึ่งในกรรมการ และบอร์ดบีโอไอก็ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของนักลงทุนด้วย
3.การเร่งขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะ EU และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ปัจจุบันไทยมีข้อตกลง FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ และมีเป้าหมายที่จะทำ FTA เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมสัดส่วนการค้าร้อยละ 80 ภายในปี 2570
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแนวโน้มการลงทุนในอนาคต ซึ่งการเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศต่างๆ ร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีได้สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทชั้นนำของโลกต่างพูดถึงเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเรื่องหลักขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสีเขียว การใช้พลังงานสะอาด และการลดปล่อยคาร์บอนในสโคปต่างๆ
รวมทั้งปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยออกกฎระเบียบเพื่อผลักดัน อาทิ European Green Deal ในยุโรปเพื่อผลักดันเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 รวมทั้งมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า Inflation Reduction Act ของสหรัฐ Green New Deal ของเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategies ของญี่ปุ่น
“ไทยมีจุดแข็งหลายด้านที่สอดคล้องเทรนด์นี้ จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน บุคคลากร นโยบายที่สนับสนุนการลงทุนสีเขียว รวมทั้งความพร้อมของพลังงานสะอาด”