เปิดเอกสาร DSI สอบประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
DSI รายงานผลการสอบสวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ชัดคณะกรรมการคัดเลือกไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ ITD อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งครอบคลุมงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
การประมูลครั้งที่ 1 เมื่อปี 2563 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง และท้ายที่สุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกการประมูล
จนกระทั่ง รฟม.เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 และมีการยื่นฟ้องศาลปกครองในคดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางยกฟ้อง รวมทั้งมีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบการประมูล เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 รวมทั้งมีการเสนอผลการประมูลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 และกระทรวงคมนาคมขอถอนวาระหลังจากมีการอภิปราย 1 ชั่วโมง และมีรัฐมนตรีกังวลข้อกฎหมาย
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับข้อพิพาทที่เอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ปรับหลักเกณฑ์การประกวดราคา
ทั้งนี้ รฟม.ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 เรื่องแจ้งผลการสืบสวนเพิ่มเติม หนังสือดังกล่าวลงนามโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธีบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งเรื่องบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญากรณีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565
มีการกำหนดเงื่อนไขอันมีลักษณะอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิศษได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่าจากการสืบสวนพบว่าคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในขั้นตอนแรก กลับไม่ตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเหตุให้บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอราคาหนึ่งในสองรายได้รับการประกาศให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ
ทั้งที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกอันเป็นกรณีที่มีลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564
ซึ่งได้มีการทักท้วงแล้ว แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับไม่ดำเนินการจึงเป็นขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้เป็นการแข่งขันราคาตามที่กำหนดไว้
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CKเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท
2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท