บนทุ่งลาเวนเดอร์ฝังกับระเบิด | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ภาพการลงทุนโลกในเดือนแรกของปีนี้ เหมือนจะสะท้อนความสดใสของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐ ที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัวรุนแรงถึง 3.3% ต่อปี
เทียบกับไตรมาสก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.0% หรือจะเป็นยอดค้าปลีกที่ขยายตัวถึง 5.6% ในเดือน ธ.ค. ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน
ท่ามกลางการฟื้นตัวของ PMI ภาคการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 เดือน บ่งชี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นหลังสินค้าคงคลังหมดลง ขณะที่ด้านเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ดัชนีเงินเฟ้อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ลดลงเหลือ 2.9% ต่อปีในเดือนที่แล้ว ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 ขณะที่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นติดต่อกันมากที่สุดในรอบเกือบหนึ่งปี
ภาพดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะสามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในเดือน มี.ค. (ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ผู้เขียนเคยคาดการณ์ไว้) ขณะที่บางสำนักวิจัย เช่น Goldman Sachs ที่ผู้เขียนได้รับเกียรติไปเข้าร่วมงานสัมมนา Global Macro Conference ประจำปีนี้ มองไว้ว่า Fed จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ถึง 5 ครั้ง
โดยเหตุผลสำคัญคือ เงินเฟ้อที่ลดลง โดยมองว่าเงินเฟ้อ Core PCE อยู่ระดับ 2% ต่อปีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะเหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ในมุมผู้เขียน เหมือนทุ่งนี้ถูกฝังด้วยกับระเบิด โดยสถานการณ์ล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่กองกำลังสหรัฐ 3 นายถูกสังหารและกว่า 25 นายบาดเจ็บ
หลังจากการโจมตีของโดรนจากกองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนของอิหร่านในจอร์แดน ใกล้กับพรมแดนของซีเรีย และทำให้ประธานาธิบดีไบเดนต้องออกมาส่งสัญญาณพร้อมโจมตีกลับนั้น เป็นเหมือนสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่พร้อมจะรุนแรงมากขึ้น
ภาพนี้เป็นมุมมองเช่นเดียวกับ Phillip Zelikow อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่ได้มองว่าในปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกสูงสุดในรอบ 60 ปี และสหรัฐเสี่ยงที่จะเผชิญสงครามใหญ่ใน 3-6 เดือนข้างหน้า
โดยสหรัฐต้องเตรียมที่จะเผชิญกับ 4 สงคราม ได้แก่ (1) สงครามกับจีน (2) สงครามในคาบสมุทรเกาหลี (3) สงครามตะวันออกกลาง และ (4) สงครามกับรัสเซีย
Zelikow มองว่า ต้องพิจารณาศัตรูของสหรัฐเป็นองค์รวม ทั้งในฝั่งเกาหลีเหนือและในฝั่งอิหร่าน ที่มีการโจมตีอิสราเอลผ่านหลายทาง และมองว่าผู้นำของจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่านนั้นได้พูดคุยกัน รวมถึงเป็นไปได้ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐ
หากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในโลกรุนแรงขึ้น และดูเหมือนว่าสหรัฐจะเพลี่ยงพล้ำ ภาพจะส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำสหรัฐจากประธานาธิบดีไบเดน เป็นทรัมป์ได้
ซึ่งเมื่อทรัมป์ซึ่งยึดนโยบาย America First เป็นหลักได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี การให้ความสำคัญกับพันธมิตร เช่น นาโต กลุ่ม Quad หรือในยุโรปจะลดลง ทำให้ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐสามารถผลักดันวาระของตนได้ง่ายขึ้น
แม้ประเด็นเหล่านี้จะเป็นการวิเคราะห์ของ Zelikow และผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐในระดับนั้น แต่ในระยะต่อไป ต้องจับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น
โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มีความรุนแรงจากรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านอย่างต่อเนื่องเป็น Series เช่น ฮิสบูเลาะห์ ฝั่งเลบานอนและซีเรีย และกบฏฮูติ ฝั่งเยเมน ที่นำความเสี่ยงมาสู่ทะเลแดง และกระทบต่อการขนส่งสินค้าระดับโลก ซึ่งความรุนแรงที่มากขึ้นดังกล่าว ทำให้ความเสี่ยงสงครามกับอิหร่านโดยตรงมีมากขึ้น
ในประเด็นด้านการขนส่งสินค้าต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกของไทยในระยะต่อไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยแม้ว่าการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2566 จะขยายตัว 4.7% และทำให้ทั้งปีหดตัว -1.0% โดยเป็นผลจากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก
ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆ เช่น รถยนต์ อัญมณี รวมถึงสินค้าสำคัญ เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเริ่มฟื้นตัว ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์อาจเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ยังคงต้องจับตาความต้องการในตลาดโลกต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ หากพิจารณา Momentum ของการส่งออกไทยในภาพรวม พบว่าเริ่มชะลอลง โดยขยายตัวชะลอจาก 8% ในเดือน ต.ค.เหลือ 4.6% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าไต้หวัน เวียดนาม และเกาหลีใต้ (ที่ขยายตัว 5-12%)
นอกจากนั้น หากพิจารณาในประเด็นการนำเข้า (ซึ่งสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ คือดัชนีชี้นำการผลิตและส่งออกในระยะถัดไป) ที่เริ่มกลับมาหดตัวอีกครั้งในหมวดเชื้อเพลิง วัตถุดิบ อุปโภคบริโภค บ่งชี้ว่าการผลิตรวมถึงความต้องการในประเทศยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนใหญ่ถึงกว่า 70% ของ GDP ไทย
นอกจากนั้น หากจับตาในระยะต่อไป การส่งออกไทยในช่วงต้นปีมีสัญญาณน่ากังวลมากขึ้นจากวิกฤติทะเลแดง ส่งผลผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าระวางเรือไปยุโรปเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัวจากปลายปีที่ผ่านมา
โดยค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรปสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุตจากประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อตู้ ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ หากเป็นตู้ขนาด 40 ฟุต ราคาก็จะเพิ่มจากประมาณ 2,000 เป็น 5,000 ดอลลาร์ต่อตู้
รวมถึงค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) ที่สายเดินเรือเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มขึ้น ทำให้การขนส่งไปปลายทางในบางจุด อาจมีค่าใช้จ่ายรวมถึงกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อตู้
นอกจากนั้น จับตาราคาน้ำมันโลกรวมถึงโภคภัณฑ์ที่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์กำลังเริ่มวิ่งกลับเข้าไปสู่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้กระทบการขนส่งมากขึ้น
ซึ่งหากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย ทำให้การขนส่งมีปัญหาลากยาวไปจนถึงเดือน มี.ค. ภาพเหล่านี้จะมีผลต่อการเจรจาต่อรองราคาสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อใหม่ เกิดปัญหาติดขัดด้านอุปทาน และทำให้เงินเฟ้อของโลก อาจจะกลับมาอีกครั้ง
“กับระเบิด” ถูกฝังในทุ่งลาเวนเดอร์แล้ว นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการ โปรดระวัง
*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่