7 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจการลงทุนที่ต้องติดตามในปี 2024 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ในปี 2023 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ "ยากลำบาก" ในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนพอสมควร ส่วนในปี 2024 ที่ผู้เขียนมองว่าความผันผวนจะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้ต้องจับตา 7 ปัจจัยเศรษฐกิจการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้
ปัจจัยแรก อันได้แก่เศรษฐกิจสหรัฐ โดยตัวเลขล่าสุดดูเหมือนจะดีกว่าคาด ทั้งจาก GDP ไตรมาส 3/23 และยอดค้าปลีก ขณะที่เงินเฟ้อ (Core PCE) ชะลอลงตาม Fed คาด ทำให้สถานการณ์ Soft landing หรือเศรษฐกิจขยายตัวดีแต่เงินเฟ้อลดลงเป็นไปได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงมีมากขึ้นในปี 2024 ทั้งจาก ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของ Conference Board ที่ยังคงบ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย ยอดผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่สูงกว่าช่วงก่อน Covid มากขึ้น
ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณเปราะบางในหลายจุด เช่น ตำแหน่งงานเปิดใหม่ และตัวเลขการจ้างงานเอกชนจากสถาบัน ADP เป็นต้น
ปัจจัยที่สอง อันได้แก่ เศรษฐกิจจีน พบว่าน่ากังวลมากขึ้น โดยตัวเลขช่วงปลายปี เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีนฟื้นตัวแต่ต่ำกว่าคาด
ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการ ในเดือน ธ.ค. ยังคงหดตัว ส่วนเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ส่งสัญญาณความเสี่ยงเงินฝืด แต่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างจากการก่อสร้างภาครัฐที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น บ่งชี้ว่ามาตรการการคลังวงเงิน 1 ล้านล้านหยวนในการเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว
ปัจจัยที่สาม ได้แก่ เศรษฐกิจไทยซึ่งในปัจจุบัน Momentum ฟื้นตัวเปราะบาง โดยเครื่องยนต์หลักได้แก่
(1) การบริโภคเอกชน ซึ่งเร่งตัวจากภาคบริการที่ฟื้นตัวตามการเปิดประเทศ แต่ Momentum เริ่มแผ่วลงมามาก ท่ามกลางการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ไม่สูงนัก
(2) การส่งออกฟื้นตัวขึ้นบ้างในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาแนวโน้มในอนาคตผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของ 3 ตลาดหลัก พบว่าหดตัวมากขึ้น ทำให้อนาคตส่งออกไทยไม่สดใสนัก
(3) ภาคการผลิตที่ยังติดลบต่อเนื่องรุนแรงกว่า 14 เดือน ท่ามกลางการส่งออกที่มีความเสี่ยง ส่งผลให้การลงทุนเอกชนยังเปราะบาง และ
(4) รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตหดตัวจากผลกระทบของภัยแล้ง แม้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ข้าวและยางพาราจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในอนาคตน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะหากไม่มีผลผลิต (จากภาวะภัยแล้ง) เกษตรกรก็จะไม่มีสินค้าขาย แม้ราคาจะสูงขึ้นก็ตาม
ปัจจัยที่สี่ ได้แก่ กลุ่มโภคภัณฑ์ ที่แม้เผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ยกระดับการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว
ทำให้เรือสินค้าจากเอเชียไปยุโรปที่จะต้องแล่นผ่านทะเลแดง ทะลุสู่คลองสุเอซ ต้องแล่นอ้อมผ่านแหลม Good hope ในแอฟริกาใต้แทน ทำให้สินค้าจากเอเชียไปสู่ยุโรปเหนือต้องเพิ่มเวลาจาก 31 เป็น 40 วัน
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งโลหะอุตสาหกรรม รวมถึงธัญพืชและพลังงานไม่ได้ปรับขึ้นตามความเสี่ยงดังกล่าว โดยลดลงถึงกว่า 12% ในปี 2023 ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอลงทำให้ความต้องการอ่อนแอลง
รวมถึงที่ผ่านมา บริษัทเดินเรือได้มีการสั่งซื้อเรือใหม่ เพิ่มขึ้น 9% ในปี 2022 และอีก 11% ในปี 2023 ซึ่งปริมาณเรือที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อ่อนแอลง ทำให้ราคาโภคภัณฑ์ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
ปัจจัยที่ห้า ได้แก่ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับลดลงมามากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 จากความคาดหวังเศรษฐกิจ Soft landing และดอกเบี้ยลดลง แต่ในอนาคต เราเชื่อว่าผลตอบแทนพันธบัตรอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นจาก
(1) ความเสี่ยงจากการเมือง จากปัญหา government shutdown ถูกเลื่อนออกไปหลังประธานาธิบดีลงมติรับร่างงบประมาณชั่วคราว แต่ยังต้องมีการเจรจาครั้งใหม่ที่วันที่ 19 ม.ค. และ 2 ก.พ. ซึ่งการเมืองที่เข้มข้นขึ้น อาจกระทบทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรให้เด้งขึ้น
(2) นโยบายการเงิน ที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงทำมาตรการดูดสภาพคล่องกลับ (QT) เดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ
(3) นโยบายการคลังขาดดุลมากขึ้น จาก 2.9% GDP ในปี 2022 เป็น 7.7% GDP ในปี 2023 และอาจเข้าสู่ระดับ 8% GDP ในปี 2024 ทำให้ความจำเป็นของรัฐบาลในการออกพันธบัตรมีมากขึ้น ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรที่จะกลับมาสูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในระยะต่อไปได้
ปัจจัยที่หก เรื่องค่าเงิน ที่จะผันผวนมากในปี 2024 โดยค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในไตรมาส 1 จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าต่อ แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มแย่ (ทำให้ Fed ลดดอกเบี้ย) แต่ดอลลาร์ (ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย) จะแข็งค่าขึ้น ทำให้บาทอ่อนค่าลง
จนเมื่อ Fed ยุติการลดดอกเบี้ยจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าในเอเชียและไทย และทำให้บาทแข็งค่าขึ้นได้ในไตรมาส 4 ท่ามกลางดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่จะสมดุลหรือขาดดุลเล็กน้อย (จากส่งออกที่แย่จากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่เข้าสู่ภาวะถดถอย)
ทั้งนี้ ค่าเงินที่จะผันผวนมากขึ้นในปี 2024 นักลงทุนและนักธุรกิจจึงควรประกันความเสี่ยงค่าเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ ภาคการเมืองใน 2 ประเทศสำคัญ อันได้แก่ (1) ไต้หวันในช่วงต้นปี ที่โพลล่าสุดยังให้ผู้สมัครพรรครัฐบาล (ที่มีท่าทีต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่) ยังมีคะแนนนำกว่าผู้สมัครจากฝ่ายค้าน ทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันยังอยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวันในปีหน้าไม่น่าจะมากนักเนื่องจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ ทำให้จีนน่าจะมุ่งเน้นดูแลเศรษฐกิจมากกว่า และ
(2) การเลือกตั้งสหรัฐช่วงปลายปี ที่ผลโพลในปัจจุบันยังให้คะแนนนิยมทรัมพ์ที่ 46.8% เหนือไบเดนที่ 44.5% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศาลสูงของ 2 มลรัฐ (Colorado, Maine) ได้สั่งห้าม ทรัมพ์ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีใน 2 มลรัฐดังกล่าว เนื่องจากประเด็นด้านความมั่นคง ซึ่งจะทำให้การเมืองสหรัฐซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น
เศรษฐกิจสหรัฐ จีนและไทยที่อาจกลับทิศ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเสี่ยงแต่ราคาโภคภัณฑ์ไม่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรที่อาจเด้งขึ้น ค่าเงินที่จะผันผวนมากขึ้น และการเมืองไต้หวันที่อาจเป็นสีสัน แต่การเมืองสหรัฐจะเป็นความเสี่ยงหลัก
นี่คือข้อสรุปของ 7 ปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจการลงทุนที่ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตาในปีนี้.