'นักวิชาการ' มองจีน - สหรัฐฯเร่งหาพันธมิตร หลังปัญหา 'ภูมิรัฐศาสตร์' ลากยาว
“นักวิชาการ”มองความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ลากยาว ชี้หากโดนัล ทรัมป์กลับมา ส่งผลต่อการสนับสนุนสงครามในยูเครน อาจได้แรงสนับสนุนน้อยลง ชี้จีน สหรัฐฯ เร่งหาพันธมิตรเศรษฐกิจ – ความมั่นคง ในเอเชีย
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวในหัวข้อ “GEOPOLITICS : Hot Spot ใหม่ที่โลกจับตา ไทยรับมือ” ในงานสัมนา "GEOPOLITICS 2024" จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" วันนี้ (31 ม.ค.) ว่าในปี 2567 นี้สถานการณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 1 – 2 ปีที่ผ่านมานั้นยังอยู่กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสมรภูมิรัสเซีย และยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ความตรึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งทะเลจีนใต้
“การเลือกตั้งในสหรัฐฯนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐฯกับประเทศต่างๆรวมทั้งนโยบายในต่างประเทศ โดยเฉพาะหากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ทุกคนมองว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็คืออาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจของโลกในภาวะที่เกิด “New World disorder” "
ปรากฎการณ์ Trump Put
ทั้งนี้การกลับมาของทรัมป์นั้นทางการเมืองของรัสเซียนั้นมีการคาดการณ์สถานการณ์แบบที่เรียกว่า “Trump Put” คือในมุมมองของรัสเซียนั้นมองว่าหากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ยังไงไม่มีทางที่จะมีการเจรจากันได้แน่ และแรงช่วยเหลือที่ให้กับยูเครนนั้นมีความอ่อนแรงลง และมีการต่อรองทางการเมืองภายในสหรัฐฯและยุโรปเมื่อจะมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการช่วยเหลือยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย
ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลาง การสู้รบระหว่างอิสราเอล และฮามาสเข้าสู่เฟสที่2 คือการลดแรงกดดันจากต่างประเทศเมื่ออิสราเอล ยึดทางเหนือและใต้ได้แต่สงครามขนาดเล็กยังมีต่อไป แรงกกดดันยังมีอยู่ ดีที่สุดคือการเจรจา แต่การเจรจาก็ไม่จบ เพราะอิสราเอลจะไม่ยอมให้ฉนวนกาซาไปอยู่กับฮามาสอีกแล้ว สถานการณ์จะบานปลายยืดเยื้อต่อ อิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธ ในหลายกลุ่มในตะวันออกกลางที่เป็นกลุ่มติดอาวุธ เช่น ซีเรีย ฮูติ
ส่วนการที่สหรัฐฯมีสถานการณืทหารที่โดนโจมตีเสียชีวิตในตะวันออกกลาง สหรัฐฯจะมีอะไรบางอย่างที่ต้องตอบโต้ โจ ไบเดน นั้นต้องมีการสั่งการบางอย่างแต่ไม่ใช่การทำให้เกิดสงครามใหญ่ คือการดำเนินมาตรการที่จะบอกกับอิหร่านได้ว่าอย่าให้รุนแรงจนเกินไป ซึ่งสถานการณ์ยังยันกันอยู่บนนี้ไม่อยากให้มีสงครามระหว่างสหรัฐญและอิหร่าน จนเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความขัดแย้งทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายเริ่มมีท่าทีที่จะพูดคุยกันได้มากขึ้น โดยเริ่มมีการพูดคุยกันในซานฟรานซิสโก มีช่องทางในการสื่อสารกันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองประเทศ แต่ความขัดแย้งก็จะยังดำเนินต่อไป
“ความมั่นคง และมิติทางด้านเศรษฐกิจ ความขัดแย้งจีนกับสหรัฐจะนำมาซึ่งการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯซึ่งจีนมีความได้เปรียบมากกว่าในอาเซียน แต่สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ในเชิงความมั่นคงมากกว่ากับประเทศในแถบนี้ สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดคืออาการของโรคที่มีการเปลี่ยนระเบียบโลก ในยุคที่ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯหลังสงครามเย็น แต่สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ ภาวะหลายขั้วที่ไม่มีเสถียรภาพ เช่น อินเดีย จีน สหรัฐฯ และ Global South เช่น อินเดีย เกาหลีเหนือ และลาตินอเมริกา จะขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีภาวะที่เรียกว่า Non state actor ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น บทบาทของอิรอน มัสก์ ที่มีสตาร์ลิงก์ รวมทั้ง AI ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ”