เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือน สัญญาณเงินฝืด! พิชัย จี้ แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยเงินกู้
‘พิชัย’ ชี้เงินเฟ้อติดลบ 4 เดือน สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทยหนักกว่าคาด ชี้เงินเฟ้อช่วงติดลบเพิ่มจาก 0.3% ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว เป็น 1.1% ในเดือน ม.ค. จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ลดภาระธุรกิจ ประชาชน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในเดือน ม.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงออกมาติดลบ 1.11% ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน และลดลงต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ว่าภาวะนี้สะท้อนปัญหาของเศรษฐกิจไทย และชี้ให้เห็นได้ว่าเกิดสัญญาณของปัญหาเงินฝืดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จากปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
สิ่งที่น่ากังวลคือเงินเฟ้อที่ติดลบนั้นมีการติดลบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากในเดือน ต.ค.ปีก่อนที่เงินเฟ้อติดลบ 0.31% ในเดือน พ.ย.ติดลบเพิ่มเป็น 0.44% ต่อมาในเดือน ธ.ค.เงินเฟ้อติดลบเพิ่มเป็น 0.83% และในเดือนม.ค.ที่ประกาศเงินเฟ้อออกมาติดลบถึง 1.1% ซึ่งถ้าสถานการณ์แบบนี้สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มาจากการที่ราคาพลังงานลดลงจากการที่รัฐเข้าไปอุดหนุนแต่อย่างเดียว
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอและเผชิญกับสถานการณ์เติบโตต่ำและฟื้นตัวช้ามาก ลองเปรียบเทียบกับบางประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นจากโควิดก็เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก เช่นสหรัฐฯที่เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาขยายตัวได้ประมาณ 3.3 % ขณะที่การจ้างงานก็แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีกกว่า 3.53 แสนตำแหน่ง แต่เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตได้เพียง 1.4% ในไตรมาส 4 และทั้งปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.8% ซึ่งหากลบกับอัตราเงินเฟ้อก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตได้ต่ำมากๆจึงถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมาช่วยแก้ปัญหาลดความเดือนร้อนของประชาชน
โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ควรจะถึงเวลาที่จะหารือกับธนาคารพาณิชย์อย่างจริงจังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในส่วนของเงินกู้ที่ปัจจุบันสูงกว่าเงินฝากมากจนเป็นภาระกับทั้งประชาชน และภาคธุรกิจที่กู้ยืม
“ดอกเบี้ยเงินกู้วันนี้บางทีอยู่ที่ 7 – 8% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของเราต่ำมากแค่ประมาณ 1% กว่าๆ ช่องว่างของดอกเบี้ยแบบนี้สะท้อนให้เห็นผ่านกำไรมหาศาลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติควรเร่งเจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีนโยบายทางการคลังออกมาเนื่องจากต้องรอ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ผ่านสภาฯ นโยบายการเงินก็ควรจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ”
สำหรับเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในวันที่ 7 ก.พ.นี้ นายพิชัยมองว่าโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ยังมีโอกาสน้อย เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯออกมาดีมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะลดดอกเบี้ยในขณะนี้ แต่อาจจะปรับลดช่วงครึ่งหลังของปีไปแล้ว ซึ่ง กนง.ของไทยก็จะยังคงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายเพราะ ธปท.เองก็กังวลเรื่องเงินทุนไหลออกจึงมองว่า กนง.จะยังไม่ลดดอกเบี้ยฯในการประชุมครั้งนี้