‘BOI’ เปิด 5 แผนรุกดึงลงทุนปี 67 ปลื้มยอดขอส่งเสริมลงทุนปี66 พุ่ง 8.4 แสนล้าน
“บีโอไอ” เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเติบโตต่อเนื่อง ปี 2566 2,307 โครงการ
เงินลงทุนกว่า 8.4 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี หลังเทรนด์ภูมิรัฐศาสตร์ดันการย้ายฐานการผลิต เปิด 5 แผนดึงการลงทุนทั่วโลกในปีนี้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้รับทราบรายงานการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าปีก่อนทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน
โดยปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16 มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดใน รอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% เนื่องจากสถานการณ์การแบ่งขั้วระหว่างกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทำให้บริษัทชั้นนำต่างมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความมั่นคง มีความพร้อม และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี สามารถตอบโจทย์ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค
ประกอบกับรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี ของบีโอไอ ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 342,149 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 82,282 ล้านบาท เกษตรและอาหาร 74,416 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 45,951 ล้านบาท และเทคโนโลยีชีวภาพ 31,814 ล้านบาท โดยการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างมาก จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 และมูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 3.5 เท่าจากปีก่อน เนื่องจากมีการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การทดสอบแผ่นเวเฟอร์และแผงวงจรไฟฟ้า
รวมทั้งกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์กว่า 20 โครงการใหญ่ ทั้ง PCB และ PCBA ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สำหรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นำโดยบริษัทค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนอย่างฉางอัน ไอออน และโฟตอน
ในส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท สำหรับญี่ปุ่น มีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 จากปีก่อน
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ในปี 2566 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 437 โครงการ เงินลงทุนรวม 29,379 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต ขณะที่คำขอรับส่งเสริมการลงทุนของ SMEs มีจำนวน 943 โครงการ เงินลงทุน 36,010 ล้านบาท
สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ปี 2566 มีจำนวน 2,383 โครงการ เงินลงทุนรวม 750,129 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 2.44 ล้านล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 139,000 ตำแหน่ง ในส่วนการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,825 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เงินลงทุนรวม 490,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
เปิดแผนรุกการลงทุนปี 67
นอกจากนี้ บีโอไอได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานในปี 2567 โดยจะเน้นภารกิจ 5 ด้านสำคัญ คือ
1.เดินหน้าดึงการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และกิจการสำนักงานภูมิภาค โดยเจาะกลุ่มนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยในปีนี้ บีโอไอมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มเติม 3 แห่ง ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู ประเทศจีน และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย
2.การยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน เช่น การผลักดันกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การสนับสนุนการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ การเตรียมบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับบริการภาครัฐ
3. การดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ (Talent) ให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ผ่านมาตรการ Long-term Resident Visa (LTR Visa) และการปรับปรุงศูนย์บริการ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
4. การเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น EV และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่กำลังจะเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยการผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานให้มากที่สุด
5.การยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น
“บีโอไอมองว่า ปี 2567 จะเป็นปีทองสำหรับการลงทุน ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน สำหรับยานยนต์ นอกจากจะดึงการลงทุนจากผู้ผลิต EV รายใหม่ ๆ รวมทั้ง การผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญแล้ว ยังคาดว่าจะมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรถยนต์รายเดิมที่จะมาขอรับส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ออกมาใหม่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และการขับเคลื่อนอัจฉริยะด้วย” นายนฤตม์ กล่าว