เมื่อแบงค์ชาติ (ยัง) ไม่ลดดอกเบี้ย | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แลัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ มีมติไม่เอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
ท่ามกลางความเห็นหลายฝ่ายที่อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยลดลง โดยแบงค์ชาติให้เหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
คําถามคือ เราจะเข้าใจการตัดสินใจของ กนง. หรือแบงค์ชาติได้อย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยคือนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายนโยบายการเงินของแบงค์ชาติคือ การรักษาเสถียรภาพราคา หมายถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ตํ่าและมีเสถียรภาพ ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
สามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แบงค์ชาติให้ความสำคัญในการทำหน้าที่และ กนง. ก็ยํ้าประเด็นนี้ชัดเจนในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 เป็นสิ่งที่ตลาดการเงินคาดไว้ล่วงหน้า โดยแบงค์ชาติประเมินว่าเศรษฐกิจปลายปีที่แล้วคือ ไตรมาสสี่อ่อนกว่าที่คาดจากผลของปัจจัยภายนอก คือการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอจากการส่งออกและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวแม้จํานวนจะเพิ่มแต่การใช้จ่ายต่อหัวลดลงเทียบกับในอดีต นอกจากนี้ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทําให้เศรษฐกิจไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น
ปัจจัยเหล่านี้ทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีที่แล้วออกมาตํ่ากว่าคาด และลดแรงส่งที่เศรษฐกิจปีที่แล้วจะมีต่อเศรษฐกิจปีนี้ ทําให้แบงค์ชาติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเป็นขยายตัวร้อยละ 2.5- 3 ต่อปี
โดยประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน สําหรับการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวช้ากว่าคาด
รวมถึงข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกที่แบงค์ชาติมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งล่าสุดตัวเลขติดลบสี่เดือนต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะลดตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า กลับมาเป็นบวก คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 1 ปีนี้ก่อนเพิ่มสูงมากขึ้นในปีหน้า
โดยแบงค์ชาติวิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับตํ่ามากในปัจจุบันไม่ได้เป็นผลจากความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ เพราะราคาสินค้าไม่ได้ลดลงหรือติดลบในวงกว้าง การลดลงเป็นเฉพาะบางกลุ่มสินค้า
และถ้าหักผลของมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อระดับราคาในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก คือไม่ติดลบ ซึ่งแบงค์ชาติแสดงผลการวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ในเอกสารแนบการแถลงข่าว
ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอ แบงค์ชาติประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ และในระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน การกู้ยืมของภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ยังดำเนินการได้เป็นปรกติ
ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่องและผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชําระหนี้ได้ตามปรกติ แต่ยอมรับว่าธุรกิจขนาดเล็กอาจเผชิญภาวะสินเชื่อตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและครัวเรือนที่รายได้ฟื้นตัวช้า
นี่คือการวิเคราะห์ของแบงค์ชาติโดย กนง. และข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างต้นทําให้ กนง. ในการประชุมอาทิตย์ที่แล้วสรุปว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม มติ กนง. ที่คงอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นเอกฉันท์ มีกรรมการสองคนเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลดลงร้อยละ 0.25 เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่ไม่มีรายละเอียดในเอกสารแถลงข่าวในประเด็นนี้
สรุปคือ แบงค์ชาติโดย กนง. มองว่า เศรษฐกิจขยายตัวแม้ชะลอลง และจะขยายตัวต่อในปีนี้ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภาคเอกชนและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจที่ขยายตัวจะทําอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเร่งตัว และอาจกลับสู่เป้าของการทํานโยบายในปีหน้า เป็นแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่แบงค์ชาติมองว่าสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ขณะนี้
เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยต้องมีที่มาที่ไป ทั้งข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด การวิเคราะห์ข้อมูลหรือสิ่งที่เกิดขึ้น และการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต เป็นวิธีการทํางานตามแนวทางสากลที่ตลาดการเงินและนักลงทุนยอมรับ
อย่างไรก็ตาม การมองไปข้างหน้าควรต้องระมัดระวัง ครบถ้วน และมีสมมติฐานที่เป็นยอมรับเพื่อการตัดสินใจที่มีเหตุมีผล ในเรื่องนี้ ผมมีข้อสังเกตสองข้อที่อยากฝากไว้
หนึ่ง เหตุผลสำคัญที่ กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ยังเหมาะสมคือ ความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พิจารณาจากตัวเลขการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แต่ข้อมูลระยะสั้นที่นํามาประมวลดัชนีการบริโภค เช่น ยอดจำหน่ายสินค้า บางรายการอาจรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเข้าไปด้วย เช่น อาหาร โรงแรม ค่าเดินทาง ซึ่งถ้าไม่แยกแยะก็จะทำให้ภาพการบริโภคของคนในประเทศดูเข้มแข็งกว่าที่เป็นจริง
ซึ่งจากเอกสารแนบแถลงข่าวก็ชัดเจนว่า กนง. ตระหนักเรื่องนี้ แต่ที่จะเป็นคําถามสำคัญตามมาคือ กําลังซื้อของคนในประเทศที่จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้จะมาจากไหน ถ้าจีดีพีหรือรายได้คนในประเทศขยายตัวตํ่า หนี้ครัวเรือนสูงและสินเชื่อทั้งประเทศโตเพียงร้อยละ 2
สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 1.1 เดือนมกราคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงวัดโดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ใกล้ร้อยละ 4 แสดงถึงภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีก ประเด็นนี้จะสำคัญต่อการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย
ในความเห็นผม เศรษฐกิจเราขณะนี้เปราะบาง เพราะขับเคลื่อนโดยการบริโภคภาคเอกชนที่ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสและความสามารถในการหารายได้ตํ่า และการท่องเที่ยวที่การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวกําลังลดลง
ไม่มีโมเมนตัมที่มาจากการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐเหมือนประเทศอื่น เพราะติดปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีการแก้ไข ทําให้เศรษฐกิจจะไปไหนไม่ได้ไกล เป็นสิ่งที่นักลงทุนรู้ ตลาดหุ้นรู้ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ ที่สําคัญกว่าเรื่องดอกเบี้ยหรือการประสานนโยบายการเงินการคลัง.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล