'แม่ฟ้าหลวง' ดัน 'มอนเตสเซอรี่' หลักสูตรยุคใหม่ 'ปลูกคน' สร้าง 'พลเมืองดี'
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โชว์การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ - PBL สอนให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ดอยตุงมีความรู้คู่ทักษะชีวิต ต่อยอดพัฒนาตัวเองได้ มีภูมิคุ้มกันทันโลกที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว และเป็นพลเมืองดี ในภาวะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ตัวอย่างของงานพัฒนาตามแนวทางตามพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ที่ได้พระราชทานแนวทางไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว
มาถึงวันนี้นอกจากความสำเร็จในการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จากการ “ปลูกป่า” มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จย่าในการ “ปลูกคน” โดยพัฒนาการศึกษาเพื่อให้คนดอยตุงสามารถยืนหยัดอยู่ร่วมกับธรรมชาติในสภาวะและบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้
คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงว่าเป็นโครงการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาของเด็กๆในพื้นที่ นอกเหนือจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ที่ผ่านมามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้ทำเรื่องการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ดอยตุงมาโดยตลอด ก่อนจะขยายผลไปในโรงเรียนทั่ว อ.แม่ฟ้าหลวง
ทั้งนี้นักเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ และพื้นที่ใกล้เคียงมีต้นทุนและความต้องการแตกต่างจากนักเรียนในสังคมเมือง เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่นี้ไม่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และส่วนมากนักเรียนไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียนในพื้นที่จึงออกแบบหลักสูตร โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน
ใช้การสอนแบบ"มอนเตสซอรี่" พัฒนาคน
มูลนิธิฯได้นำเอาระบบการเรียน การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) ซึ่งเป็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เน้นฝึกฝนประสาทสัมผัส จากวัสดุอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน มีหัวใจสำคัญคือเด็กจะได้เรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีการใช้ระบบการเรียนการสอนแบบนี้ใน 8 โรงเรียนในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่มุ่งพัฒนาและวางรากฐานด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนจากหลากหลายชนเผ่า
นอกจากนี้ยังมีระบบการเรียนที่ช่วยเพิ่มทักษะภาษาไทยด้วยเครื่องมือ Task-based learning ใน 37 โรงเรียน 95 ห้องเรียน โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ควบคู่กับการใช้ระบบการเรียนการสอนแบบ Project-based learning (PBL) การเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา
เพิ่มจำนวนเด็กอ่านออกเขียนได้
ที่สำคัญโครงการพัฒนาดอยตุงฯ มุ่งการเรียนการสอนภาษาไทยแก่เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ตั้งเป้าหมายลดจำนวนเด็กที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ให้เป็นศูนย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงห่วงใยเรื่องการศึกษาภาษาไทยของเยาวชนในพื้นที่
ในปีพ.ศ. 2561 จะแบ่งการพัฒนาเด็กๆตามช่วงชั้นและอายุ ผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และอนุบาล โดยมีการนำการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori)การเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กได้ทำตามความสนใจของตนเองอย่างเป็นอิสระ เสริมความคิดสร้างสรรค์ และความมีระเบียบวินัยในตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าเรียนในชั้นสูงต่อไป
ขยายผลมอนเตสซอรี่ไป 8 โรงเรียน
หลังจากเริ่มดำเนินการมาหลายปี ปัจจุบันมูลนิธิได้ขยายผลจาก 8 โรงเรียนในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ไปในอ.แม่ฟ้าหลวง จำนวน 53 ศูนย์เด็กเล็ก และ 37 โรงเรียน สำหรับระดับชั้น ป. 1-3 เน้นการเรียนการสอนภาษาไทยให้เด็กชาวเขาที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พูดไม่เป็น ให้มีทักษะสื่อสารได้ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยใช้กระบวนการ Task Based Learning ขยายผลครอบคลุม 36 โรงเรียนใน อ.แม่ฟ้าหลวง นักเรียนสามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้น 30-40% เมื่อเปรียบเทียบจากก่อนดำเนินโครงการ
แนวทางการสอนแบบมอนเตสซอรี่ที่เรานำมาใช้ จะสอนให้เด็กเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง คิดวิเคราะห์ ทำโครงการด้วย Project Based Learning ซึ่งเด็กมีความสนใจอะไรครูก็จะสนับสนุนให้เขาทำแบบนั้น เช่น ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา ฯลฯ แต่ละคนจะเขียนโครงงาน นำไปปฏิบัติ รายงานผลออกมาเป็นแผนภูมิ เป็นรูปภาพรายละเอียดต่างๆ ตรงนี้ก็จะทำให้เขาจำขึ้นใจและรู้วิธีปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เรียนแค่ท่องจำแต่เป็นการเรียนด้วยการปฏิบัติจากสิ่งที่เขาชอบ
“บทบาทของครูในหลักสูตรมอนเตสซอรี่จะเป็นเพียงผู้ชี้แนะ แต่จะไม่ชี้นำ เพราะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง สามารถเลือกทำกิจกรรมหรือเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้อย่างอิสระโดยไม่มีการตีกรอบจากครู เราอยากสร้างเด็กๆ ทุกคนในพื้นที่ให้เป็นพลเมืองดีมากกว่าเป็นคนดี เพราะเป็นคนดีมันเป็นแค่คนเดียว แต่ถ้าเป็นพลเมืองดีเขาจะไปช่วยผลักดันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชน สังคม หรือประเทศ เรื่องนี้สมเด็จย่าท่านเคยรับสั่งไว้ว่าไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เขาไม่มีโอกาสและทางเลือกที่ดี ถ้าเราช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเองได้ อนาคตเขาก็มาช่วยคนไทยช่วยประเทศไทย" คุณหญิงพวงร้อยกล่าว
ผลจากการพัฒนาคนให้การศึกษา และสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กคิดเป็น และแก้โจทย์ในชั้นเรียนทำให้เด็กที่จบการศึกษาไปแล้วสามารถไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้น หลายคนจบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือสายวิชาชีพ หรือไปเรียนต่อในต่างประเทศ กลับมาเป็นครูมาช่วยสอนน้องๆเด็กรุ่นหลังบางคนกลับมาช่วยท้องถิ่น บางคนกลับมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เปิดร้านกาแฟ ขายของออนไลน์ สร้างเงินสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ กลับมาช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้
พัฒนาเด็กให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้โครงการดอยตุงฯดำเนินการมากว่า 30 ปีแล้ว คนบนดอยตุงเข้าสู่ช่วงเจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว
“สังคมในปัจจุบันทำให้เด็กเหมือนกับเจอมาราธอนชีวิต อาชีพในปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก ทักษะที่ได้รับจากโรงเรียนหรือการศึกษาแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์การประกอบอาชีพ และดำรงชีพในอนาคต การที่จะสร้างให้เด็กยืนหยัดอยู่ในสังคมในอนาคตที่มีการแข่งขันสูงจึงต้องใส่ทั้งฮาร์ดสกิล และซอฟต์สกิลคือมีทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต”
แนวทางในอนาคตคือการพัฒนาแนวทางการสอนที่เอาวิธีการเรียนการสอนที่ได้ผลขยายออกไปให้ได้มากที่สุด โดยครูไม่ต้องสอนก็ได้แต่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลเด็ก แนะแนววิธีคิด ส่วนวิชาหลักๆก็เอาหลักสูตรที่ดีแล้วมาถ่ายทอดผ่านอินเตอร์เน็ต เหมือนโครงการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม เรื่องนี้เป็นความท้าทายใหม่ซึ่งต้องมีการหารือกับหลายๆฝ่ายต่อไป
สร้างทักษะการอยู่รอด - พัฒนาตนเอง
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โรงเรียนในพื้นที่ดอยตุงที่ใช้การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี กล่าวว่าปัจจุบันการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 420 คน มีครู 34 คน โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สนับสนุนครูอัตราจ้าง 5 ราย
โดยเด็กนักเรียนมาจากพื้นที่บ้านห้วยไร่สามัคคี บ้านห้วยน้ำขุ่น แบ่งการเรียนการสอนปฐมวัยถึง ป.3 จะเตรียมความพร้อมร่างกาย จิตใจ พื้นฐานคุณธรรม อ่านเขียนภาษาไทยได้ดี ป.4-ป.6 เน้นการช่วยตนเอง คิด ถามตอบ วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา สร้างโครงการเล็กๆได้
เด็กในระดับมัธยม ม.1- ม.6 จะเน้นเตรียมความพร้อมเด็กสู่โลกภายนอก ให้มีพื้นฐานการประกอบอาชีพ หลักสูตรจึงไม่เน้นการท่องจำ แต่ให้เด็กเลือกทำงานตามความสนใจและความพร้อมของตนเอง เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้เรียนอย่างอิสระผ่านสิ่งแวดล้อมที่ครูจัดให้อย่างมีเป้าหมายในการเรียนรู้ โดยสิ่งที่ปลูกฝังคือให้เด็กนักเรียนไม่กลัวความผิดพลาด กล้าที่จะทำตามความฝันตัวเอง ซึ่งมาจากการปูพื้นฐานในการเรียนที่ต้องทำโครงการ หาข้อมูล สืบค้นข้อมูล นำเสนอโครงการ ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้
“โจทย์ของเด็กในโรงเรียนนี้ อาจไม่เหมือนกับโรงเรียนในเมืองเพราะบางคนโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนสุดท้ายในชีวิต ไม่ได้ไปเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะมีทักษะในการใช้ชีวิต สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ เด็กที่เรียนกับเราไม่ได้รู้แค่ทฤษฎี เด็กๆที่นี้ทำทุกอย่างเองหมด เปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนก๊อกน้ำ ค้าขายออนไลน์ ประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นสิ่งที่เราสอนและให้ลงมือปฏิบัติจริงในชั้นเรียนจนมีทักษะที่เอาตัวรอดได้ มีอาชีพที่ดี และกลับมาพัฒนาช่วยพัฒนาสังคม” ดร.ศุภโชคกล่าว
7 ขั้นตอนการเรียนแบบ PBL
ทั้งนี้ระบบการเรียนการสอนแบบ Project-based learning (PBL) ที่เป็นการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์ โดยมี7 ขั้นตอนสำคัญคือ
- ขั้นตอนที่ 1 สร้างแรงบันดาลใจ
- ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและวางแผนโครงงานและสร้างองค์ประกอบเกณฑ์ประเมินคุณภาพผลงาน
- ขั้นตอนที่ 3 สืบค้นข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล
- ขั้นตอนที่ 4 ใช้ข้อมูลสร้างโครงงาน
- ขั้นตอนที่ 5 นำเสนอโครงงานเพื่อการวิพากษ์ ให้คำเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงงาน
- ขั้นตอนที่ 6 ปรับปรุงโครงงาน ออกแบบการนำเสนอและฝึกการนำเสนอผลงาน
- ขั้นตอนที่ 7 นำเสนอผลของโครงงาน