'แม่ฟ้าหลวง' ดัน‘คาร์บอนเครดิต’ 1 ล้านตัน/ปี สร้างรายได้ป่าชุมชนยั่งยืน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ร่วมมือขยายผลโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนฯ “ดิศปนัดดา” เผยปี 67 เพิ่มพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจาก 1 แสนไร่ เป็น 1.5 แสนไร่ ใน 9 จังหวัด ปี เพิ่มรายได้ให้ชุมชนยั่งยืน 500 ล้าน ตั้งเป้า 1 ล้านตัน
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทำให้ทั่วโลกต้องร่วมกันคิดแนวทางที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการชดเชยคาร์การปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) โดยมีป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญตามธรรมชาติซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชุมชนที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งคาร์บอนเครดิตในหลายพื้นที่
“โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงเกิดขึ้นโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเอาประสบการณ์และความรู้ในการ “ปลูกป่า”ที่สั่งสมมากว่า 40 ปีมาทำงานร่วมกับชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่าชุมชน และจับมือร่วมกับ 14 องค์กรภาครัฐและเอกชนในการทำโครงการนี้
มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดเผยว่าจากประสบการณ์การทำงานเรื่องการปลูกป่าของมูลนิธิฯในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย มูลนิธิฯตกผลึกในเรื่องความสำคัญของ “การปลูกป่า ปลูกคน” หัวใจสำคัญคือให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนหากบริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ป่าจะสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศได้ด้วย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับป่าชุมชน โดยใน พ.ศ. 2563 ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
“เราเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อมๆ กัน ช่วยลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 จากไฟป่า รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาคนว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย”
มูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชนจัดการพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ ใน 7 จังหวัด มีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน
ในปี 2566 โครงการฯขยายพื้นที่ป่าชุมชนไปเป็น 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 143,496 ไร่ ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนได้แล้วกว่า 1 แสนไร่ และในปี 2567 จะขยายพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตอีก 1.5 แสนไร่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570
ในการขยายพื้นที่ในระยะต่อไปที่เรียกว่าระยะพัฒนาระบบ โครงการจะมีความร่วมมือกับป่าชุมชนครอบคลุม 129 แห่งใน 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ สามารถผลิตคาร์บอนได้ 5 แสนตันคาร์บอน ภายในระยะเวลา 10 ปี และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ประมาณ 500 – 630 ล้านบาท และในอนาคตคาดหวังว่าจะสามารถขยายพื้นที่การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนทั่วประเทศเป็น 5 แสนไร่ได้ หากเทคโนโลยี และบุคลากรมีความพร้อม
เอกชนถอดบทเรียนลดคาร์บอนฯ
มล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่าธุรกิจการบินกำลังจะถูกกำหนดเรื่องของการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ตั้งแต่ปี 2027 จะต้องมีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนเกือบ 100% ซึ่งธุรกิจการบินก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมบริษัทได้เดินหน้าทำในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนในหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนรถที่ใช้ในธุรกิจเป็นรถไฟฟ้า (EV) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมทั้งการทดลองปลูกป่าเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน
แต่ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาการปลูกป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวจะปลูกป่าได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาปลูกเองรอดแค่ 1 – 2% เท่านั้น จึงยินดีที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯที่มีประสบการณ์และความรู้ในการปลูกป่ามีโครงการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนป่าชุมชนเพื่อเก็บคาร์บอนเครดิตในรูปแบบนี้
สุศมา ปิตากุลดิลกรักษาการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและ บริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ.ให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนในทุกกระบวนการดำเนินงานของบริษัทโดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2013 โดยที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการลดคาร์บอนไปกว่า 8 ล้านตัน นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเป้าหมายจะเป็นองค์กร Net Zero Carbon ในปี 2050 ซึ่งมีการทำเป้าหมายเกี่ยวกับการ เลี่ยง ลด และชดเชยการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังให้ความสำคัญเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการใช้เทคโนโลยีซึ่งเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการศึกษา และกำลังจะนำมาใช้ในประเทศไทยในอนาคตที่เป็นลักษณะโครงสร้างพื้นฐานในการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศโดยสามารถอัดคาร์บอนกลับลงไปใต้ดินในระดับความลึก 1,500 เมตรด้วย