ดอลลาร์อ่อนค่า-อุปสงค์ขยายตัวน้อย น้ำมัน WTI ปิดบวก
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (15 ก.พ.) เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 78.03 ดอลลาร์/บาร์เรลส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.26 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 82.86 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.41% แตะที่ระดับ 104.296 เมื่อคืนนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาด และทำให้ตลาดมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.65% หลังจากพุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.พ. โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะขยายตัวเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 ซึ่งลดลงเกือบ 50% จากที่มีการขยายตัว 2.3 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566
IEA ระบุในรายงานว่า “การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มชะลอตัวลงแล้ว และเราคาดว่าอุปทานน้ำมันจะอยู่สูงกว่าอุปสงค์ โดยอุปทานจะขยายตัว 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ บราซิล แคนาดา และกายอานา”
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันในระหว่างวัน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 ของอังกฤษหดตัวลง 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเป็นการหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2566 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่หดตัวลง 3.3% ในไตรมาส 3/2566 ซึ่งการที่ GDP หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะการเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี โดยขณะนี้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก