เปิดแนวคิด 'ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม' CEO ใหม่คุมทัพ SCG องค์กร 111 ปี
เปิดแนวคิด "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" CEO ใหม่ คุมทัพ "SCG" องค์กร 111 ปี ตั้งรับทุก "เซอร์ไพรส์" เคลื่อน 4 ภารกิจหลัก เดินหน้าสร้างสังคม Net Zero แก้วิกฤติโลกเดือด ตั้งเป้ายอดขายนวัตกรรมกรีน 67% ปี 2573
Key points
- CEO ใหม่ เอสซีจี ย้ำสานต่อภารกิจ เน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่เคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน
- "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" ชูแนวคิด ตั้งรับทุกวิกฤติโลก หลังถอดบทเรียนในทุกสถานการณ์สำคัญ
- "เอสซีจี" จับตาเทรนด์โลก อัพสกิลบุคลากรทุกเจน พร้อมหนุนซัพพลายเจนเติบโตไปด้วยกัน
ในช่วง 110 ปี ที่ผ่านมาของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ผ่านวิกฤติหลายครั้งที่กระทบกับธุรกิจ ซึ่งขนาดของวิกฤติแตกต่างตามสถานการณ์ ไล่ตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โรงงานปูนซิเมนต์บางซื่อถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเมื่อปี 2487
จนถึงวิกฤติครั้งล่าสุดที่มีแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างรุนแรง
ความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงใน 110 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างบทเรียนให้กับเอสซีจี โดยตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในรอบ 25 ปี คือ
วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 นำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหลือ 3 กลุ่ม คือ 1.ซีเมนส์ 2.เคมีภัณฑ์ 3.กระดาษและบรรจุภัณฑ์
ทำให้เอสซีจีหันมามองเรื่องการจัดการความเสี่ยง จากเดิมที่มองโอกาสมากจนไม่คิดถึงเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เช่น ความเสี่ยงจากโครงสร้างทางการเงินที่กู้เงินทั้งหมด ความเสี่ยงจากการเข้าไปทำธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งหลักการทำธุรกิจสามารถมองโอกาสจากการทำธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยได้ แต่ถ้าองค์กรทำมากไปจะมีปัญหาพัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ทันกับภารกิจใหม่
วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2550-2551 เอสซีจีได้รับผลกระทบไม่มากถึงแม้ว่าวิกฤตินี้จะส่งผลถึงค่าเงินบาท เพราะการปรับโครงสร้างด้วยการตัดธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญออก ถือว่าเตรียมตัวรับมือมาดี และยังไม่ใช่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเหมือนผลกระทบมาบตาพุดปี 2552 ที่การลงทุนหลักในธุรกิจปิโตรเคมีต้องชะลอตัวถึง 1 ปี
วิกฤติมาบตาพุด ปี 2553 เป็นความเสี่ยงจากข้อกฎหมายและประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเป็นเรื่องของการยอมรับจากชุมชนและสังคม ซึ่งวิกฤติมาบตาพุดเป็นตัวจุดประกายให้เอสซีจีรู้จักบริหารความเสี่ยง รู้จักที่จะเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมสังคมและชุมชนเป็นเรื่องที่เพิกเฉยไม่ได้ และนำมาสู่การเปลี่นแปลงอย่างหนึ่งของเอสซีจี
วิกฤติโควิด-19 ปี 2563-2565 ถือได้ว่ามีความรุนแรงและแตกต่างกว่าทุกวิกฤติที่ เอสซีจี เคยเจอ ซึ่งกรณีที่ใกล้เคียงสุดเป็นการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปญที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลกทั้ประเทศเล็กและใหญ่
Prepare for the worst เป็นหลักคิดของการรับมือวิกฤติครั้งนี้ โดยในต้นปี 2563 ช่วงที่เริ่มมีโควิด-19 ได้มองว่าวิกฤติจะลากยาวถึงสิ้นปี 2564 จนกว่าจะมีวัคซีน และเหตุการณ์จริงได้ลากยาวไปถึงปี 2565
Plan for the Best เป็นอีกแนวคิดที่ให้แต่ละกลุ่มธุรกิจพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด เช่น ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้นช่วงที่มีการระบาด
ถึงแม้ว่าเอสซีจีจะไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น สายการบิน โรงแรม หรือบันเทิง แต่ปรับการบริหารให้ตัดสินใจให้เร็วและทำงานเร็วขึ้น 4 เท่า เพราะเป็นภาวะวิกฤติใหม่ที่ต้องรีบตัดสินใจแก้ปัญหา
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กล่าวภายหลังรับตำแหน่ง CEO SCG คนใหม่ แทนนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ที่เกษียณอายุวันที่ 1 ม.ค. 2567 ว่า จากสถานการณ์จีโอโพลิติก และวิกฤติต่าง ๆ ส่งผลให้ต้องอยู่ในโลกที่ทีความผันผวนสูง โดยจะเห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีจะเกิดเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ต่าง ๆอาทิ โควิด เทรดวอร์ สงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ เอสซีจีได้เตรียมใจว่าคงต้องเจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกแน่นอน
ทั้งนี้ สิ่งที่ยังต้องเจอต่อเนื่องคือ จีโอโพลิติก ที่จะกระทบกับราคาน้ำมัน และที่สำคัญจะเป็นเรื่องของโลกเดือด ภัยธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้อุณหภูมิขึ้นใกล้จะถึง 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว ส่งผลให้ลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นการปลดปล่อยคาร์บอนมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่องของภาษีคาร์บอน ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤติต่อจากนี้ เราจะต้องอยู่กับโลกที่มีความไม่แน่นอน
"เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงต้องเตรียมพร้อมและอยู่กับมันให้ได้ เอสซีจีมองทิศทางดำเนินงานในช่วง 3-5 ปี หากหวังจะทำธุรกิจให้ได้เพียงแค่กำไรนั้นง่ายมากโดยไม่ต้องปรับอะไรมากและอยู่กับธุรกิจที่สร้างคาร์บอนสูงต่อไป แต่หากจะมองไปในระดับ 40-50 ปี หรือ 100 ปี ต้องมองอีกแบบและต้องเดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่กับการสร้างผลกำไร จึงต้องมุ่งพัฒนาสินค้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด"
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2567 เอสซีจี ได้เตรียมงบลงทุน 40,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้จากยอดขายโต 20% เพื่อผลักดันทุกกลุ่มธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว โดยสัดส่วนรายได้ธุรกิจเคมิคอลยังเป็นรายได้หลักมีสัดส่วนประมาณ 40% รองลงมาคือ ธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างกว่า 30% และธุรกิจแพคเกจจิ้งประมาณ 20% เป็นต้น
ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ และสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องปรับตัว สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด Passion for Inclusive Green Growth ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่
1.องค์กรคล่องตัว ด้านธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูงเพื่อขยายขีดความสามารถของแต่ละธุรกิจตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคใหม่และความผันผวนของสถานการณ์โลก ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
2. เร่งพัฒนานวัตกรรม โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดโลก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสังคม Net Zero เช่น นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร พร้อมขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งเป้ารายได้จากนวัตกรรมรักษ์โลก SCG Green Choice 67% จากยอดขายทั้งหมดปี 2573 จากยอดขายปี 2566 ที่ 54%
3. องค์กรแห่งอนาคตสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เปิดโอกาสให้พนักงานปล่อยแสงสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านโครงการสตาร์ทอัพในเอสซีจี อาทิ พัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ Prompt Plus ยกระดับการบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยกว่า 10,000 รายในเครือข่ายเอสซีจี การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในโครงการ ZERO TO ONE by SCG สร้างโอกาสให้พนักงานก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ ปั้นธุรกิจศักยภาพสูงมากมาย เช่น Dezpax.com แพลตฟอร์มออนไลน์แพคเกจจิ้งครบวงจรรายแรกในไทย
4. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยกันผลักดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการ 50,000 คนในปี 2573 และร่วมกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ ตั้งเป้าหมายการปลูกป่า 1.5 ล้านร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี
"เงินลงทุนปีนี้ ในทุกธุรกิจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมจะต้องทำให้เป็นกรีนและต้องได้เงิน ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงสำคัญ โดยจะต้องผสานนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าให้พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีร่วมกันช่วยผลักดันกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนให้เติบโตไปด้วยกัน"