คลังขอ ธปท.ผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ลูกหนี้นอกระบบ

คลังขอ ธปท.ผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ลูกหนี้นอกระบบ

คลังขอ ธปท.พิจารณาผ่อนเงื่อนไขแบงก์รัฐปล่อยกู้ลูกหนี้นอกระบบที่เป็นหนี้เสียของสถาบันการเงิน เพื่อให้กระบวนการแก้ไขหนี้นอกระบบเดินหน้า ขณะที่ คืบหน้าการจัดตั้งเอเอ็มซีเพื่อรับซื้อหนี้เสียแบงก์รัฐยังรอ ธปท.พิจารณาอนุมัติ คาดประกาศได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ธนาคารออมสินพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ โดยในส่วนของหนี้นอกระบบที่กระทรวงมหาดไทย รับหน้าที่ในการดำเนินการ เพื่อลงทะเบียนลูกหนี้ และเจ้าหนี้ และช่วยเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งได้มีการเจรจาแล้ว และได้ส่งลูกหนี้นอกระบบจำนวน 400 รายมาให้ธนาคารออมสินช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น ก็ขอให้ธนาคารช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยกู้ให้

เขากล่าวว่า ปัญหาของลูกหนี้นอกระบบบางส่วนคือ เคยเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินด้วย และบางส่วนเคยติดบัญชีของเครดิตบูโร และบางส่วนเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินในระบบด้วย  ซึ่งเท่าที่ได้หารือกับธนาคารออมสิน การติดเครดิตบูโร ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไม่ปล่อยกู้ แต่ในส่วนของลูกหนี้นอกระบบที่เป็นหนี้เสียกับสถาบันการเงินในระบบด้วยนั้น ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า ในกรณีที่เป็นหนี้เสีย สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ได้เพิ่มเติม ดังนั้น ธนาคารออมสิน จะต้องไปหารือกับ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินว่า กรณีลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และเป็นหนี้เสียด้วย ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มเติม เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่ หรือต้องให้ลูกหนี้เหล่านั้น ปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะได้รับสินเชื่อใหม่ หรือจะสามารถผ่อนปรนเงื่อนไขนี้ให้กับสถาบันการเงินของรัฐได้หรือไม่

ส่วนผลของการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 มียอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 1.4 แสนราย มูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 9.8 พันล้านบาท ยอดของรายการที่มีข้อมูลครบ และสามารถเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 2.1 หมื่นราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 1.2 หมื่นราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ และผลจากการไกล่เกลี่ยทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้ง JV-AMC ของรัฐ เพื่อโอนหนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ เข้ามาอยู่ใน JV-AMC เพื่อให้การเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้นนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ได้เจรจากับพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมในการจัดตั้ง AMC ดังกล่าวแล้ว และได้ยื่นขอจัดตั้งจาก ธปท.แล้ว อยู่ในระหว่างการรอประกาศอนุมัติจาก ธปท. คาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

เขากล่าวว่า การจัดตั้ง JV-AMC จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ที่ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ของแต่ละสถาบันการเงินทำได้ยากขึ้น เพราะบางสถาบันการเงินยอมที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ แต่อีกแห่งอาจไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้ ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายนั้นไม่สามารถยุติได้ ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ที่เป็น SMEs ที่มักจะมีหนี้ในหลายสถาบันการเงิน  ดังนั้น หากสามารถนำลูกหนี้เหล่านั้นมารวมอยู่ใน JV-AMC แห่งเดียวจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ JV-AMC ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมานั้น อยู่บนหลักการไม่คิดกำไร ดังนั้น ราคาหนี้ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินของรัฐ กรณีเป็นหนี้ที่มีหลักประกันก็จะคิดตามราคาหลักประกัน ,กรณีไม่มีหลักประกันก็คิดตามมาตรฐานทั่วไป โดยมีส่วนลดส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ AMC

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมทุนจัดตั้งเอเอ็มซีว่า ขณะนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการรอประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่จะอนุญาตให้ธนาคารสามารถเข้าไปดำเนินการร่วมทุนในธุรกิจเอเอ็มซีได้ เมื่อ ธปท.ออกประกาศดังกล่าวแล้ว ธนาคารพร้อมที่จะเดินหน้าในการประกอบธุรกิจทันที โดยเอเอ็มซีที่ธนาคารจะเข้าไปร่วมทุนนั้น เป็นเอเอ็มซีของรัฐแห่งหนึ่งที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เดิมเราคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ราวไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ แต่เนื่องจาก ต้องรอใบอนุญาตจาก ธปท.ทำให้การเริ่มธุรกิจดังกล่าวล่าช้าออกไประยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท.อนุญาตให้เฉพาะธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งเอเอ็มซีเพื่อมาบริหารสินทรัพย์ได้ แต่ยังไม่อนุญาตการประกอบธุรกิจดังกล่าวแก่แบงก์ ดังนั้น กระบวนการจัดตั้งหรือร่วมทุนกับเอเอ็มซีดังกล่าว จึงต้องรอให้ ธปท.พิจารณาอนุมัติ และออกประกาศให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้

สำหรับวัตถุประสงค์การร่วมทุนในเอเอ็มซีดังกล่าวนั้น ก็เพื่อรับซื้อหนี้เสียของธนาคาร และแบงก์รัฐแห่งอื่น ซึ่งจะช่วยรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย และช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น โดยหนี้เสียที่จะรับซื้อนั้น จะเป็นหนี้เสียสำหรับรายเล็กถึงรายกลางมูลหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ในส่วนหนี้เสียของธนาคารที่จะโอนไปยังเอเอ็มซีนั้น คาดว่า จะอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์